กรมศุลฯ เตรียมซื้อเครื่องเอ็กซเรย์เพิ่ม ป้องกันลักลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมเลี่ยงภาษี-ยาเสพติด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2018 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรเตรียมสั่งซื้อเครื่องเอ็กซเรย์สินค้าที่นำเข้ามาด้วยการจัดส่งทางไปรษณีย์ (อีคอมเมิร์ซ) จากต่างประเทศเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง จากเดิมมี 1 เครื่อง เพื่อใช้ตรวจจับสินค้าที่นำเข้ามาโดยละเมิดกฎหมาย โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมที่มีการสำแดงราคาเท็จ โดยแจ้งราคาต่ำกว่า 1.5 พันบาท เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีขาเข้าจากกรมศุลกากร รวมถึงสินค้าที่เป็นยาเสพติด ตลอดจนสินค้าต้องห้ามว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีความพยายามเลี่ยงภาษีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กรมฯ ยังเพิ่มระบบการเปิดตรวจสินค้าอีคอมเมิร์ซ โดยหากพบว่าที่อยู่ใดมีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากจะเปิดตรวจสินค้าทุกครั้งทันที เนื่องจากพบว่ามีการหลบเลี่ยงด้วยการเปลี่ยนชื่อคนรับแทน ขณะเดียวกันจะเร่งเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบสินค้าอีคอมเมิร์ซตามด่านชายแดนทั่วประเทศ หลังพบมีขบวนการนำเข้าสินค้าแบบทรานซิส หรือนำเข้ามาทางสนามบินและส่งต่อไปประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นค่อยลักลอบนำเข้ามาทางรถยนต์ผ่านด่านชายแดน ซึ่งกรมศุลกากรจะประสานข้อมูลจากสนามบินไปด่านชายแดนเพื่อตามตรวจจับ ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจจับได้ 2-3 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการเก็บภาษีของปีงบประมาณ 2561 จะได้ตามเป้าหมาย 1.08 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงการคลังปรับลดลงมาจาก 1.1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการผู้นำเข้าใช้สิทธิอัตราภาษีนำเข้าต่ำ จากการข้อตกลงเขตเสรีการค้าอาเซียน (อาฟต้า) ส่วนปีงบประมาณ 2562 กรมฯ มีเป้าหมายเก็บภาษี 1.11 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากที่ผ่านมามีการเร่งประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในหลายด้าน

ปัจจุบัน กรมศุลกากรได้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการทำงานด้านศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งในด้านกระบวนการทำงาน พัฒนาบุคลากร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีการการจัดทำพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เพื่อกฎหมายศุลกากรระเบียบปฏิบัติต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจุบันเข้ากับยุคสมัย การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและนำไปสู่การยกระดับตัวชี้วัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ได้แก่ กระบวนการยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้าก่อนที่เรือ/อากาศยานจะเข้ามาถึง (Pre-Arrival Processing) การให้บริการระบบสืบค้นพิกัดล่วงหน้า (HS Check) ในรูปแบบ Mobile Application ระบบฐานข้อมูลสืบค้นผลคำวินิจฉัยประเภทพิกัดศุลกากร (Tariff e-Service) ระบบเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้าและแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านเข้าเขตศุลกากรการ (e-Matching) พิธีการศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Transition) การคืนอากรตาม ม.29 ทวิ (e- Refund) โครงการศึกษาพิธีการศุลกากรแบบเรียบง่ายสำหรับ e-Commerce (Simplified e-Commerce Customs Procedure : SeCCP. การจัดทำโครงการ "พันธมิตรศุลกากร (Customs Alliances : CA)" เพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารระหว่างภาคเอกชนกับกรมศุลกากร ในการให้คำแนะนำติดต่อประสานงาน แก้ไขปัญหาและสร้างความชัดเจน ลดข้อโต้แย้งที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและให้คำปรึกษาอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินพิธีการทางศุลกากร อันเป็นการก้าวเข้าสู่ Customs 4.0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ