(เพิ่มเติม) ครม. อนุมัติวงเงิน 1 พันลบ.จัดตั้ง"สถาบันนโยบายสาธารณะ" เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายเชิงรุกให้กับสภาพัฒน์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2018 18:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือ สศช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบงบประมาณ 1 พันล้านบาท สำหรับการดำเนินงานในปี 62-65 ในการก่อตั้งสถาบันนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนา (Institute of Public Policy and Development) ในรูปแบบสถาบันภายใต้มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร เพื่อเป็นสถาบันลูกของสภาพัฒน์ เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและการวิจัย และสนับสนุนบทบาทการทำงานให้ สศช. เป็นคลังสมอง (Think Tank) ของประเทศในด้านการศึกษาวิจัยประเด็นการพัฒนาและนโยบายที่สำคัญ เพื่อให้ สศช. กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาประเทศทั้งในระยะยาว ระยะปานกลาง และระยะสั้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

โดยโครงการเสริมสร้างศักยภาพของ สศช.นี้ มีแผนงาน/โครงการที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่น แผนงานการสร้างฐานสำหรับการวิเคราะห์ วิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมเชิงลึก โครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่รองรับพลวัตที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูง แผนงานการวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มอนาคตและผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โครงการวิเคราะห์ภาพอนาคต (Scenario) ของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนงานการออกแบบและการพัฒนานโยบายสาธารณะ (Policy Design and Development) โครงการพัฒนานโยบายสร้างพื้นที่เติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โครงการออกแบบนโยบายพัฒนาสาขาการผลิตและบริการ ที่จะเป็นเครื่องจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เป็นต้น

"สถาบันนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนา จะทำหน้าที่ใน 2 ส่วน คือ มองไปข้างหน้า ในการคาดการณ์วางแผนการทำงานในอนาคต และการวิจัยเชิงลึกเพื่อกำหนดนโยบาย" นายทศพร กล่าว

ท้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขอให้ สศช. พิจารณาจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความครอบคลุมของงบประมาณหรือแหล่งเงินนอกงบประมาณให้ครบถ้วน เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป รวมทั้งกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการสถาบันฯ ให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะการสรรหาบุคลากรและการสร้างกลไกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ