(เพิ่มเติม) กนอ.เปิดประมูลท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ปลายต.ค.,คาดเริ่มพัฒนานิคมฯ สมาร์ทปาร์คในระยอง ปลายปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 12, 2018 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 5.54 หมื่นล้านบาท ได้ผ่านการเห็นชอบหลักการของโครงการจากคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว พร้อมประกาศเชิญชวนนักลงทุนประมาณปลายเดือนต.ค. 61 และจะให้ภาคเอกชนยื่นซองประมูลประมาณเดือนม.ค. 62 โดยในช่วงต้นเดือน ก.พ.62 คาดว่าจะประกาศผลการคัดเลือกภาคเอกชน และเซ็นสัญญาในเดือนเดียวกัน โดย กนอ.จะเร่งเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบให้ทันภายในปี 68

ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนการพัฒนานิมคมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งได้วางแนวทางการพัฒนาได้แก่ การส่งเสริมนิคมฯให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อต้องการให้แต่ละนิคมฯมีการพัฒนาพื้นที่ในนิคมฯให้มีความทันสมัย เช่น การจัดทำนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันได้มีประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแล้วจำนวน 21 แห่ง

ส่วนการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์อื่น ๆ กนอ.ยังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คใน จ.ระยอง ปัจจุบันได้ทำการยื่นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 61 คาดว่าจะใช้เวลาการพิจารณาประมาณ 1 ปี หรือช่วงต้นปี 63 ซึ่งแผนต่อไปหลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว จะดำเนินการจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง และเริ่มการพัฒนาในช่วงปลายปี 63 คาดว่าจะไช้ระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจะเปิดให้บริการช่วงปลายปี 64

ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินงานในปีประมาณ 62 ของ กนอ.ยังคงมุ่งส่งเสริมและพัฒนานิคมอุตสาหกรรรมให้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อรองรับนักลงทุนและกลุ่มอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์กรหลักที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เน้นภาคอุตสาหกรรมและบริการสู่อนาคตที่ยั่งยืน

โดยมีสิ่งที่ต้องขับเคลื่อน ได้แก่ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน (SEZ) พร้อมกับการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และยังจะมุ่งพัฒนาการจัดสรรที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการผ่านระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีประสิทธิภลพที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิประโยชน์และโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เพิ่มมากขึ้นไนทุกพื้นที่

นอกจากนี้ กนอ.ยังคงร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน เพื่อผนึกกำลังขยายฐานการผลิตและลงทุนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาเพิ่มไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี และนิคมอุตสาหกรรมแพรกษา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมั่นใจว่านักลงทุนจะช่วยให้การลงทุนมีความคึกคักมากขึ้น

ด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในชายแดน หรือโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ สระแก้ว ตาก และสงขลา ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมสระแก้วเปิดให้บริการแล้วในพื้นที่เช่าทั้งหมด 660 ไร่ มีนักลงทุนสนใจเช่าพื้นที่เฟส 1 เต็มจำนวนแล้ว ส่วนการพัฒนาเฟส 2 จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 61 และพร้อมเปิดให้บริการระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อหน่วงน้ำ และไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จังหวัดตาก อยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบ (คชก.) จังหวัดภายในเดือน ต.ค.นี้ได้เร่งดำเนินโครงการเฟสที่ 1 บนเนื้อที่ 629 ไร่แล้ว คาดว่าจะเริ่มพัฒนาพื้นที่และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในปีงบประมาณ 62

รวมทั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในจังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ กนอ.ส่งเสริมการสร้างอุปสงค์การใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ บนพื้นที่ 1,248 ไร่ ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 95% และมีลูกค้าแจ้งความประสงค์ในการจองพื้นที่ราว 500 ไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าจากประเทศจีนและมาเลเซีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้และกลุ่มโรงไฟฟ้า

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้ กนอ.ได้วางแผนประชาสัมพันธ์และทำการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศไว้แล้ว คาดว่าในปีถัดไปจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยมีปัจจัยทางด้านสิทธิประโยชน์ที่ กนอ.มอบให้อย่างเต็มที่

ด้านการพัฒนาระบบบริการที่จะช่วยให้การลงทุนมีความสะดวกรวดเร็ว กนอ.ได้พัฒนาการให้บริการอนุมัติ-อนุญาต โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้งานให้บริการอนุมัติ-อนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจน (e-Permission & Privilege) บริการยื่นคำขอ บริการสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร การบรรจุ และการต่ออายุ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตลอดจนลดต้นทุน เวลา และขั้นตอนในการทำธุรกรรมของผู้ประกอบการ

โดยเปิด 2 กลุ่มบริการ ได้แก่ e-License อนุมัติ-อนุญาต ด้านภาษีอากรและที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร บริการยื่นคำขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ผ่านระบบไร้เอกสาร (e-Paperless) และ e-Signature อนุมัติ-อนุญาต คนต่างด้าวที่เป็นช่างฝีมือเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม สามารถพิมพ์หนังสืออนุญาตเองได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 62 มองว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น จากปัจจัยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ มาตรการจูงใจใหมเอกชนมาร่วมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการเลือกตั้งที่จะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนมีมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจมีผลต่อการตัดสินไจของนักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ กนอ.ตั้งเป้ายอดขายที่ดินปี 62 ที่ 3,500 ไร่ พร้อมวางงบลงทุนรวมกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในท่าเรืออุตสาหกรรม 2.27 หมื่นล้านบาท การปรับปรุงและยกระดับสาธาณูปโภค 1.83 พันล้านบาท และการปรับปรุงบริการ 2.3 พันล้านบาท

ผลการดำเนินงานของกนอ.ในระยะเวลา 12 เดือน (ต.ค.60-ก.ย.61) มียอดขายพื้นทื่/เช่า จำนวน 1,377 ไร่ มีเงินสงทุนรวมกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 3,446 คน โดยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ 1.การผลิตอื่นๆ 2.การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 3.เครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งในอาคารจากไม้ แก้ว ยาง หรือโลหะอื่นๆ 4.อุตสาหกรรมเครื่องไช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 5.ยาและผลิตภัณฑ์

5 อันดับนักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวั่น สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ โดยกนอ.มีนิคมอุตสาหกรรม 55 แห่ง ใน 16 จังหวัด โดยมืพื้นที่สำหรับขาย/เช่า (รวมพื้นที่สาธารณูปโภค) 108,470 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขายและเช่าแล้ว 88,166 ไร่ และคงเหลือพื้นที่พร้อมสำหรับขาย/เช่า 20,304 ไร่ มูลค่าการลงทุนสะสม 2.97 ล้านล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ