ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ย.61 อยู่ที่ 48.4 ลดลงจากส.ค. ชี้ภาพรวมศก.ภาคใต้ต่ำสุดจากราคายางปาล์มตกต่ำ-นทท.หด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 18, 2018 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX : TCC-CI ประจำเดือน ก.ย.61 อยู่ที่ระดับ 48.4 ปรับตัวลดลงจาก 49.8 ในเดือน ส.ค.61 ขณะที่มุมมองต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตช่วง 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 50.5 จากระดับ 51.9 ในเดือน ส.ค.61

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประธานกรรมการหอการค้าจังหวัด และกรรมการหอการค้าในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศรวม 352 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.-5 ต.ค.61 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ เช่น ปัหญาหาความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน ส่งผลต่อการชะลอตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน, ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ,ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ทั้งยาง ปาล์ม ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่มีผลในเชิงบวก คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50%, ราคาสินค้าเกษตรบางประเภทปรับตัวดีขึ้น, การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเติบโตมากขึ้น, รวมถึงการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ

สำหรับการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค แยกได้ดังนี้ 1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และมีการเร่งการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐในช่วงของปลายปีงบประมาณ แต่ยังมีความกังวลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัวลง ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และSMEs ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของค่าพลังงาน

2. ภาคกลาง พบว่า การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวจากมาตรการการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล และการส่งออก-นำเข้าสินค้าบริเวณชายแดน แต่ทั้งนี้ ยังพบปัญหาว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง, ปัญหาอุทกภัยและการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร, ปัญหาหนี้สินของประชาชนและเงินกู้นอกระบบ เป็นต้น

3. ภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการค้าบริเวณจุดผ่านแดน, การใช้จ่ายของภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การท่องเที่ยวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยกดดันในเรื่องการกระจุกตัวเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่, การขาดแคลนแรงงานและอุปสรรคในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว, ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการส่งออกสินค้าบริเวณด่านการค้าชายแดน โดยเฉพาะลาวที่มีความต้องการสินค้าจากเหตุการณ์ในประเทศ, การลงทุนอุตสาหกรรมจังหวัดปรับตัวดีขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับที่ดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาอุทกภัยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง, ปัญหาน้ำและปัจจัยการผลิตสำหรับการทำเกษตร และปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างเมืองและชนบท

5.ภาคเหนือ พบว่าการท่องเที่ยวภาคเหนือที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว และการค้าบริเวณชายแดนยังคงคึกคัก แต่ยังมีปัจจัยลบจากการบริโภคของประชาชนยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น, การได้เปรียบทางการค้าของผู้ประกอบการรายใหญ่ และปัญหาแหล่งน้ำเกษตรไม่เพียงพอ

6. ภาคใต้ ได้รับปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายของหน่วยงานภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการท่องเที่ยงเมืองรอง ขณะที่ยังมีความกังวลในปัญหาความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ, ระดับราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และปัญหาการขาดฝีมือแรงงาน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาพรวมปัญหาเศรษฐกิจในทุกภาคยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าอยู่ ซึ่งจากผลการสำรวจมีสัญญาณปรับลงในทุกภาค แต่ยังมั่นใจว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแรงอยู่ และเชื่อว่าในอนาคตสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมในทุกภาคจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยยังมีภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังเป็นภาคที่เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจในทุกภาค คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากราคายางและปาล์มตกต่ำ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงในพื้นที่ภาคใต้ แต่จากการสำรวจในส่วนของนักท่องเที่ยวไม่มีสัญญาณทรุดตัวลงไป จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการหามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

โดยหอการค้าไทย ยังประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 4.6% ส่วนในปีหน้ายังมองในกรอบ 4.0-4.5% โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากเม็ดเงินจากการเลือกตั้งที่จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 8 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งจะใช้ในช่วงการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือนก.พ.62 ราว 4-5 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะเป็นเม็ดเงินเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น

นอกจากนี้ ในปีหน้า ยังมีปัจจัยจากการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจในภาพรวมปีหน้าจะเติบโตเกิน 4% แน่นอน

ด้านนายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานหอการค้าไทย และประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวถึงข้อเสนอแนะที่มีต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา พบว่า ภาคใต้มีภาพรวมเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดจากทุกๆภาค เหตุจากราคาพืชผลด้านการเกษตรตกต่ำ ซึ่งภาพรวมผลผลิตการเกษตรอยู่ที่ 13% แต่ราคาผลผลิตลดลง 16% รวมถึงรายได้เกษตรกรลดลง 16 % โดยเฉพาะปัญหาของยางและปาล์ม ทางภาคเอกชนมีข้อเสนอในส่วนปาล์ม ดังนั้น จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมนำปาล์มไปผลิตเป็นไบโอดีเซลให้มากขึ้น และหามาตรการป้องกันการลักลอบนำผลผลิตปาล์มจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ราคาปาล์มขยับขึ้นได้ ในส่วนของยางพารา ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลกระตุ้นหน่วยงานท้องถิ่นให้นำยางพาราไปทำถนนให้มากขึ้น และส่งเสริมให้มีการนำผลการวิจัยมาส่งเสริมและต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของยางพาราให้มากขึ้นด้วย

นายวัฒนา กล่าวอีกว่า จากปัญหาเรือล่มของนักท่องเที่ยวจีน ที่จ.ภูเก็ต และการทำร้ายนักท่องเที่ยวจีนที่สนามบินดอนเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและทำให้นักท่องเที่ยงจีนลดลง โดยเฉพาะในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.61 รายได้จากท่องเที่ยวทางภาคใต้หายไป 1.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ภาคเอกชนจึงขอให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงปัญหาการปิดอ่าวมาหยาโดยไม่มีกำหนด ซึ่งภาคเอกชนมีข้อเสนอต้องการให้ภาครัฐกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการปิดอ่าว หรือกำหนดพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในการจองและขายแพ็คเก็จให้กับนักท่องเที่ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ