พาณิชย์เปิดให้เอกชนใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ฟอร์ม AJ ไปอินโดนีเซีย เริ่ม 15 ต.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 23, 2018 09:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการสามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership : AJCEP) ไปยังประเทศอินโดนีเซียได้แล้ว หลังจากอินโดนีเซียออกประกาศลดภาษีสินค้าภายใต้ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) โดยผู้ประกอบการสามารถขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form AJ เพื่อส่งออกสินค้าไปอินโดนีเซีย รวมถึงสามารถนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียโดยเสียภาษีในอัตราที่ลดลง และนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าในไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศภาคีสมาชิกความตกลง AJCEP นอกจากนี้ยังสามารถซื้อขายผ่านนายหน้า (Third Contry Invoicing) และแบบ Back-to-Back ไปยังอินโดนีเซียได้

"นับเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่ผู้ส่งออกสามารถใช้ความได้เปรียบนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าได้อีกด้วย" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ

ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิก AJCEP ได้ทยอยเริ่มใช้ตารางการลดภาษีภายใต้ความตกลง AJCEP ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง ในปี 2552 ซึ่งมีประเทศอินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่บังคับใช้ความตกลงฯ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจารายการสินค้าบางรายการกับประเทศญี่ปุ่น และดำเนินกระบวนการภายใน ทำให้สามารถหาข้อสรุปร่วมกับกับญี่ปุ่นและดำเนินกระบวนการภายในประเทศแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทย โดยข้อมูลล่าสุด (ม.ค.-ส.ค.61) ไทยมีสถิติการส่งออกสินค้าไปอินโดนีเซียจำนวน 6,731 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียจำนวน 5,606 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ไทยได้ดุลการค้าจากอินโดนีเซีย 1,125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำตาลจากอ้อยหรือหัวบีตข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด เครื่องยนต์ดีเซลหรือกึ่งดีเซลที่ใช้ขับเคลื่อนยานบก เครื่องตกเชิงกลและส่วนประกอบ และอุปกรณ์ประกอบยานยนต์ นอกจากนี้อินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน และมีประชากรวัยทำงานจำนวนมากจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งด้านสินค้าและบริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ