ธ.สแตนดาร์ดฯ คาด GDP ไทยปี 62 ขยายตัว 4.5% ดีกว่าปีนี้ รับผลบวกเลือกตั้งต้นปีหนุนกระตุ้นใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 30, 2018 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 ขยายตัว 4.5% สูงขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% หลังได้รับปัจจัยหนุนมาจากการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 62 ที่จะทำให้มีเม็ดเงินกระจายไปสู่ชุมชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้งมากขึ้น ทำให้ในช่วงต้นปีหน้าการจับจ่ายใช้สอยจะเติบโตขึ้นมาก

ขณะที่การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยเร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจุบันมีโครงการลงทุนของภาครัฐที่เกิดขึ้นแล้วมูลค่ารวม 7 แสนล้านบาท ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องไปในปี 62 และ 63 อีกทั้งความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในส่วนของการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่จะประกาศผลผู้ชนะการประมูลในปี 62 จะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการลงทุนแลขสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ

"ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลใหม่จะต้องดูแลความต่อเนื่องของนโยบายเชิงโครงสร้างต่อไปอีก 2-3 ปี โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจค ที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับเศรษฐกิจไทย"นายทิม กล่าว

นายทิม กล่าวว่า ส่วนการส่งออกของไทยในปี 62 ยังคงต้องติดตามผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหลังจากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯในสัปดาห์หน้า ว่าพรรครีพับลิกันจะได้รับเสียงข้างมากทั้งสภาบนและสภาล่างหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อประเด็นการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้น แต่มองว่าการส่งออกของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากนัก เพราะการส่งออกยังมีมูลค่าอยู่ในระดับที่สูง แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. 61 ที่ออกมาจะติดลบไปมากก็ตาม แต่หากดูที่มูลค่าการส่งอออกยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการส่งออกของไทยไม่ได้พึ่งพิงเพียงแค่สหรัฐฯ จีน และยุโรป เท่านั้น แต่ก็มีการส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งยังมีการเติบโตที่ดี ปัจจุบันการส่งออกจากไทยไป CLMV เติบโต 20% ทำให้มองว่าสงครามการค้าจะไม่กระทบภาคการส่งออกไทยมากนักในปี 62

แต่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่อาจจะกดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีหน้าเป็นปัจจัยของภาคการท่องเที่ยวไทย หลังจากที่เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงต่อเนื่อง โดยที่เดือนก.ย.ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงไปสูงถึง 20% และมีแนวโน้มที่จะลดลงมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากอัตราการจองโรงแรมในช่วงไฮซีซั่นของไทยในไตรมาส 4/61 ถึงไตรมาส 1/62 ต่ำกว่าปกติมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หายไป ซึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวไนไทยคิดเป็น 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดกว่า 40 ล้านคน/ปี และคิดเป็นมูลค่าเงินที่หายไปจากนักท่องเที่ยวจีนกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ทางภาครัฐต้องเร่งการแก้ปัญหา ผ่านการประชาสัมพันธ์ เพื่อลดแรงกดดันที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้

ส่วนการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก 0.25% จากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 1.5% หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มส่งสัญญาณของการขึ้นดอกเบี้ย เพราะมีเสียงของคณะกรรมการกนง. 2 เสียงที่ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมา และแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อในปี 62 ที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงมากกว่า 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในช่วงที่เหลือของปีนี้และทั้งปี 62 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันยังอยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ธปท.ตั้งไว้ 2.5% แต่การปรับดอกเบี้ยขึ้นเป็นการรองรับเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในปีหน้า และเป็นการปรับขึ้นเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อในปี 62 โดยที่ในปี 62 คาดว่ากนง.จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 2 ครั้ง ในครึ่งปีแรกของปี 62 และครึ่งปีหลังของปี 62 มาเป็น 2.25% ในสิ้นปี 62

ด้านค่าเงินบาทในปี 62 คาดว่าจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากสิ้นปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่มองว่าในปี 62 การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงเหลือ 7% ของ GDP จากปีนี้ที่เกินดุล 9% ของ GDP ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะช่วยหนุนต่อภาคการส่งออก

ขณะที่ภาพของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในปี 62 คาดว่าจะเห็นการไหลเข้าของกระแสเงินทุนมากขึ้นทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติขายออกไปค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มากขึ้น เพราะภาพรวมการเมืองไทยที่ดีขึ้น และปัจจัยทางเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็ง ส่งผลให้ไทยมีโอกาสถูกปรับอันดับเครดิตเรตติ้งจาก S&P และ Fitch rating ขึ้นเป็น "A-" หลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น จากปัจจุบันไทยมีอันดับเครดิตเรตติ้งอยู่ที่ "BBB+" โดยมองว่าการปรับเครดิตเรตติ้งของไทยขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ