(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ต.ค.61 โต 1.23% จากตลาดคาด 1.3% เป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 16 ตามราคาน่ำมันเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2018 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ต.ค.61 อยู่ที่ 102.63 ขยายตัว 1.23% จากตลาดคาด 1.3% และหากเทียบเดือน ก.ย.61 ขยายตัว 0.06% โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ต.ค.61 อยู่ที่ 102.29 ขยายตัว 0.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.04% เมื่อเทียบเดือน ก.ย.61

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.63 ขยายตัว 0.26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ขยายตัว 0.14% เมื่อเทียบเดือน ก.ย.61 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 102.65 ขยายตัว 1.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.02% เมื่อเทียบเดือน ก.ย..61

ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนของปี 61 (ม.ค.-ต.ค.) CPI ขยายตัวเฉลี่ย 1.15% ส่วน Core CPI เฉลี่ย 10 เดือน ขยายตัว 0.72%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค.61 สูงขึ้น 1.23% ซึ่งแม้จะชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า (ก.ย.61) แต่ถือว่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23, อาหารสำเร็จรูป และเคหะสถาน ในขณะที่สินค้าในหมวดอาหารสดมีราคาลดลง ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิต จึงส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.15%

ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค.61 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง โดยมีสาเหตุสำคัญจากการชะลอตัวของหมวดเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตามการปรับสูงขึ้นของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์เหมืองแร่ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และหมวดพืชผล

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในเดือน ต.ค. ซึ่งสำรวจจากรายการสินค้าทั้ง 422 รายการ พบว่า มีสินค้า 216 รายการที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า, น้ำมันเชื้อเพลิง, กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม, ก๊าซหุงต้ม และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง มี 126 รายการ เช่น เนื้อสุกร, ไข่ไก่, น้ำมันพืช, ไก่สด, ข้าวสารเหนียว, ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ขณะที่มีสินค้าอีก 80 รายการ ที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้านการใช้จ่ายที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะถัดไปลดลง และคาดว่าเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเข้าสู่กรอบเป้าหมายอย่างเป็นทางการที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 0.8-1.6% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.25% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะอยู่ในช่วง 1.2-1.5%

"การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนต.ค.นี้ เข้าสู่กรอบเป้าหมายแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยหลักๆ มาจากราคาพลังงาน และความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรบางชนิด ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีปัจจัยจากทั้งฝั่งอุปสงค์ และอุปทาน...ตอนนี้ภาพเริ่มชัดขึ้น เหลืออีกแค่ 2 เดือน เราได้ปรับกรอบให้แคบลงมาอยู่ที่ 1.17-1.21% เชื่อว่าทั้งปีนี้ เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีน่าจะเกิน 1% แน่นอน" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

สำหรับสมมติฐานที่สำคัญต่อการคาดการณ์กรอบเงินเฟ้อในปี 61 ประกอบด้วย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ 4.2-4.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 68-73 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ การส่งออก ขยายตัวสูงกว่า 8%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ และได้รับอิทธิพลสำคัญจากการเพิ่มขึ้นทั้งความต้องการ และราคาพลังงาน โดยราคาพลังงานมีแนวโน้มผันผวน แต่น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัด ในขณะที่เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าตามแนวโน้มค่าเงินในภูมิภาค และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งอาจส่งผลต่อดุลการชำระเงิน

อย่างไรก็ดี สำหรับสินค้าเกษตรมีจะมีราคาลงลง แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ราคาปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน และกำลังเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหลือของปี เช่น ข้าว, มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของเกษตรกร

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป จะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ 0.8-1.6% และอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 1-4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ