(เพิ่มเติม) เวิลด์แบงก์จัดอันดับ Doing Business ประเทศไทยลดลง 1 อันดับ แต่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น ก.พ.ร.ชี้จากผลดี 4 ด้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2018 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) ของประเทศทั่วโลกประจำปี 62 ในวันนี้ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ ด้วยคะแนน Ease of Doing Business Score (EODB) รวมทุกด้าน 78.45 คะแนน เพิ่มขึ้น 1.06 คะแนน แต่อันดับลดลง 1 ขั้นจากอันดับ 26 ในปี 61

"อันดับไม่ได้บอกอะไรได้ทั้งหมด แต่เราจะดูคะแนนในแต่ละด้านว่ามีพัฒนาการดีขึ้นหรือไม่...เราไม่ได้สนในเรื่องอันดับ แต่สนใจในเนื้อหาว่าได้พัฒนาไปได้ดีอย่างไร ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไร" นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าว

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า คะแนนของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่สำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ด้านการชำระภาษี และด้านการค้าระหว่างประเทศ

ในครั้งนี้ ธนาคารโลกได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจใหม่จากเดิมที่ใช้ระยะห่างจากเป้าหมายที่กำหนด (Distance to Fontier:DTF) มาเป็นการวัดแบบ EODB เพื่อให้การคำนวณสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด โดยวิธีนี้ประเทศที่ดีที่สุดในแต่ละตัวชี้วัดจะได้คะแนนเต็ม 100 ประเทศที่ทำได้ไม่ดีที่สุดในตัวชี้วัดนั้นจะได้คะแนน 0 คะแนน ส่วนประเทศอื่นจะได้คะแนนตามผลงานที่ทำได้เมื่อเทียบกับ Banchmark ดังกล่าว

อนึ่ง นิวซีแลนด์ครองอันดับ 1 ในรายงาน Doing Business ประจำปีนี้ ตามมาด้วย สิงคโปร์, เดนมาร์ก, ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ส่วนสหรัฐอยู่ที่อันดับ 8 ลดลงจากอันดับ 6 ในปีที่แล้ว

สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ครองอันดับ 2 จากการสำรวจประเทศทั่วโลก ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน, มาเลเซียอยู่ที่อันดับ 15 เพิ่มขึ้น 9 อันดับ, ไทยอันดับ 27 ลดลง 1 อันดับ, บูรไนอันดับ 55 เพิ่มขึ้น 1 อันดับ, เวียดนามอันดับ 69 ลดลง 1 อันดับ, อินโดนีเซียอันดับ 73 ลดลง 1 อันดับ, ฟิลิปปินส์อันดับ 124 ลดลง 11 อันดับ, กัมพูชาอันดับ 138 ลดลง 3 อันดับ, สปป.ลาวอันดับ 154 ลดลง 13 อันดับ และเมียนมาอันดับ 171 ไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนกรณีด้านการขออนุญาตก่อสร้างของไทยที่อันดับลดลงมาอยู่ที่ 67 ในปีนี้จากอันดับ 43 เมื่อปีก่อนนั้น นายปกรณ์ ยอมรับว่า เนื่องจากระบบราชการมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิศวกรรมที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบ ทำให้ขั้นตอนกินระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย ซึ่ง ก.พ.ร.จะเสนอให้รัฐบาลแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาให้เหมาะสม พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการเข้าด้วยกัน

"ปัจจุบันไม่ค่อยมีวิศวกรเข้ามารับราชการ เลยทำให้มีคนที่จะอนุญาตน้อย ในอนาคตคิดว่าจะให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เข้ามาช่วยตรวจสอบ ทำเหมือนกรณีกรมการขนส่งทางบกให้เอกชนตั้งสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)" นายปกรณ์ กล่าว

ด้าน นายมาร่า วาร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การจัดอันดับนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและทำให้เกิดการแข่งขัน โดยนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ถึงแม้ประเทศเราจะทำดีขึ้นแต่ประเทศอื่นๆ ก็ทำดีขึ้นเช่นกัน และเชื่อว่ารัฐบาลจะพยายามที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศอย่างเข้มแข็งกันต่อไป

หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่า ด้านการขอเริ่มต้นธุรกิจของไทยถ้าเป็นเมื่อ 16 ปีก่อนจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่ขณะนี้ลดลงเหลือ 7 วัน แต่นิวซีแลนด์ใช้เวลาแค่ครึ่งวัน ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลายของไทยใช้เวลา 1 ปีครึ่ง มาเลเซีย 1 ปี และมองโกเลีย 4 ปี เป็นต้น ซึ่งการจัดอันดับ Doing Business นี้จะเป็นเครื่องมือที่ผู้บริหารประเทศจะนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ