สนง.สถิติเร่งปรับปรุงกฏหมาย-รื้อโครงสร้างวิธีจัดเก็บข้อมูลใหม่ เตรียมใช้รูปแบบ e-Survey ในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2018 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) กล่าวว่า ในปี 62 สำนักงานสถิติแห่งชาติ จะปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สถิติ พ.ศ. 2550 เพื่อส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขจะแล้วเสร็จประมาณก.พ.62 หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 62 เพื่อเห็นชอบในหลักการ ก่อนที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

นอกจากนี้ สสช. จะเร่งจัดทำรหัสมาตรฐาน โดยกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติกำหนด สัญลักษณ์แทนเดียวกัน สะดวกในการบูรณาการข้อมูล และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ อีกทั้งจะเร่งพัฒนาศูนย์ข้อมูลสถิติจังหวัด ให้มีการจัดเก็บฐานข้อมูลเชิงลึกอย่างน้อย 1 เรื่อง ต่อ 1 จังหวัด ในแต่ละปี โดยจะเป็นข้อมูลที่จังหวัดสนใจ สามารถนำไปใช้กับการพัฒนาในแต่ละด้านของจังหวัด

นอกจากนี้ในปี 62 สสช.จะใช้งบราว 20 ล้านบาทเพื่อพัฒนาลงทุนพัฒนาการสำรวจแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยให้ลดงบประมาณจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลได้ในอนาคต

นายภุชพงค์ กล่าวว่า ในปี 63 สำนักงานสถิติจะใช้การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ e-Survey หรือการจัดเก็บข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ผ่านการสแกน คิวอาร์โค้ด เพื่อเข้าไปตอบคำถาม ซึ่งจะจัดส่งคิวอาร์โค้ด ครอบคลุมทุกครัวเรือน โดยตั้งเป้าว่าจะมีครัวเรือนตอบรับและให้ความร่วมมือไม่ต่ำกว่า 60% และส่วนอีก 40% จะอุดช่องว่างโดยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้จัดเก็บข้อมูลได้ครอบคลุมทั้งหมด

ทั้งนี้ สสช. จัดเก็บข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะทุก 10 ปี โดยปี 63 จะมีการจัดเก็บข้อมูลอีกครั้ง โดยหากมีการแก้ไข พ.ร.บ.สถิติปี 50แล้วเสร็จ ส่งผลให้ปี 73 ที่จะครบกำหนดในครั้งต่อไป ไม่ต้องจัดเก็บข้อมูลสำมะโนประชากร และเคหะ เนื่องจากประชาชนสามารถกรอกข้อมูลปัจจุบันด้วยตนเองได้ ทุกๆ 3 เดือน ช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐ เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับแก้ไข จะระบุให้การตอบคำถามข้อมูลของประชาชน เป็นหน้าที่พลเมืองที่ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ โดยคาดว่าในปี 65 จะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของกรมการปกครอง ให้ประชาชนกรอกฐานข้อมูลที่ถูกต้องของตนเอง แลกกับสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์บางอย่างที่จะได้รับจากภาครัฐ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนให้ความร่วมมือ และประชาชนต้องกรอกข้อมูลล่าสุดทุก 3 เดือน ช่วยให้การจัดเก็บสำมะโนประชากรและเคหะ มีความชัดเจน แม่นยำ สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาการให้บริการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ