ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 6, 2018 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... โดยจะมีการจัดตั้ง "สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย" ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนผู้ประกอบกิจการดิจิทัล ทำหน้าที่แทนภาคเอกชนในการประสานกับภาครัฐ เช่น นโยบาย การดำเนินงานร่วมกัน รวมถึงศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหา และให้คำแนะนำกับภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลด้วย

ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ 1.ขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล 2.สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3.ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และ 4.พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยดิจิทัล

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สมาชิกของสภาดิจิทัล ประกอบด้วย 3 ประเภท คือ 1.สมาชิกสามัญ ประกอบด้วย บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล 2.สมาชิกวิสามัญ ประกอบด้วย บุคคลธรรมดา ผู้ประกอบธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ผู้ประกอบการที่ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือรับบริการดิจิทัล บุคคลที่มีความสนใจ หรือสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรดิจิทัล และ 3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล หรือผู้ทำประโยชน์แก่สภาฯ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการเชิญมาเป็นสมาชิก

"ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนและสังคม จะทำให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัลในไทย มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น และได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ให้ปรับเปลี่ยนไปใช้ดิจิทัลเป็นฐานในการผลิตและบริการได้มากขึ้น ส่วนภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของประเทศ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ