นักเศรษฐศาสตร์เชื่อ"ทรัมป์"ยังเดินหน้านโยบายกีดกันการค้าแม้ถูกคานอำนาจ แนะจับตาใกล้ชิดห่วงกระทบส่งออกปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 9, 2018 09:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา พรรคเดโมแครตสามารถกวาดคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฏรไปได้ ในขณะที่พรรครีพับลิกันยังคงรักษาคะแนนเสียงข้างมากในวุฒิสภา จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มากน้อยเพียงใดนั้น

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) ให้มุมมองว่า ก่อนหน้านี้นักลงทุนทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศเอง เชื่อว่าการกุมอำนาจเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันทั้งในสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และวุฒิสภา (สภาสูง) จะทำให้การผลักดันนโยบายด้านต่างๆ ภายใต้การบริหารของทรัมป์สามารถผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ได้โดยง่าย ดังจะเห็นได้จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล การปรับลดภาษีนิติบุคคล ฯลฯ ซึ่งในภาพรวมของตลาดเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถเติบโตได้จากในส่วนนี้

แต่จากผลการเลือกตั้งกลางเทอมล่าสุดที่ออกมา จะทำให้พรรคเดโมแครตเข้ามาคานอำนาจการตัดสินใจการดำเนินนโยบายด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้มากขึ้น และทำให้การผ่านนโยบายเหล่านี้ในระยะต่อไปทำได้ยากขึ้น ที่สำคัญคือมีโอกาสจะได้เห็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องปิดการดำเนินงานชั่วคราว (ชัตดาวน์) บ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากความคิดเห็นที่อาจขัดแย้งกันระหว่าง 2 พรรคการเมืองในเรื่องการผ่านงบประมาณ

"หลังจากนี้ เราจะอาจจะได้เห็นหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ ชัตดาวน์บ่อยขึ้น เพราะจากนี้คงจะปล่อยให้มีการขาดดุลงบประมาณกันอย่างเละเทะแบบที่ผ่านมาไม่ได้" นายนริศกล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

สำหรับนโยบายด้านการค้าที่สหรัฐฯ มุ่งจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับสินค้าของประเทศที่มีการเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ ในลำดับต้นๆ ซึ่งรวมถึงไทยด้วยนั้น นายนริศ มองว่านโยบายกีดกันทางการค้าในส่วนนี้จะยังคงดำเนินต่อไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นอำนาจของประธานาธิบดีโดยตรง และเชื่อว่า"ทรัมป์"จะต้องพยายามให้นโยบายนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะสูญเสียความเชื่อมั่น และเสียฐานเสียงในการลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2563

"นโยบายกีดกันทางการค้าต่างๆ หรือการที่สหรัฐจะไม่เข้าร่วม FTA กับใคร หรือการจะตัด GSP ประเทศใด เหล่านี้มันไม่ได้เป็นเรื่องที่จะต้องผ่านความเห็นจากสภาฯ ซึ่งไม่เหมือนกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นพวกมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ คงจะไม่ได้ลดลง เพราะมันอยู่ในกรอบอำนาจของประธานาธิบดี และที่สำคัญ ทรัมป์ มีภาพของความเป็นนักสู้ เชื่อว่าเขาต้องพยายามแสดงให้เห็นว่านโยบายที่เขาวางไว้ จะต้องทำได้ ไม่เช่นนั้นจะเสียฐานเสียงในอนาคต" นายนริศระบุ

อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐฯ ยังคงแนวนโยบายในการกีดกันการค้าหรือการทำสงครามการค้ากับจีนต่อไป ก็ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยจะมีแต่ด้านที่เสียประโยชน์เท่านั้น เพราะการที่นักลงทุนหลายประเทศจะย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามายังประเทศไทยก็ยังเป็นผลด้านบวกที่ทำให้ไทยได้อานิสงส์จากจุดนี้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ จะมีนัยต่อการผลักดันกฎหมายที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่จะต้องเผชิญกับการต่อรองมากขึ้นจากพรรคเดโมแครต เนื่องจากการผลักดันกฎหมายหลายๆ ด้านต้องอาศัยความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา ดังนั้น การสูญเสียเสียงข้างมากในสภาล่างของพรรครีพับลิกัน จะส่งผลต่อความสามารถในการผลักดันกฎหมายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดภาษีเพิ่มเติมในการทำให้การปรับลดภาษีส่วนบุคคลที่เป็นมาตรการชั่วคราวให้เป็นมาตรการถาวรอาจทำได้ยาก

นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่การผ่าน พ.รบ.งบประมาณสหรัฐฯ อาจจะเผชิญกับการต่อรองที่เข้มข้นขึ้นจากพรรคเดโมแครต โดยหากการต่อรองงบประมาณมีการยืดเยื้อหรือไม่สามารถหาหนทางร่วมกันได้ อาจส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณอาจจะต้องอาศัยมาตรการพิเศษ อันเป็นอีกปัจจัยที่จำกัดแรงหนุนของภาคการคลังสหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้โมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยปรับลดลงในระยะต่อไป รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่จะครบกำหนดในวันที่ 1 มี.ค.62 นี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อความผันผวนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ จนมีผลต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงท่าทีของสหรัฐฯ ในการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้ากับจีน

"ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้อาจกลับมาอีกครั้ง หากสภาคองเกรสล้มเหลวในการขยายเพดานหนี้จนกระทบการชำระหนี้ที่ครบกำหนดของภาครัฐ ปัจจัยดังกล่าวจะนำมาสู่ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ฯ และตลาดการเงินโลกอีกครั้ง และในกรณีที่ประเด็นความขัดแย้งทางด้านการคลังลากยาวออกไปอาจจะส่งผลให้สหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงที่รัฐบาลกลางอาจจะต้องปิดตัวลง (Government Shutdown) ในช่วงปลายปี 2562" บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับผลต่อความเสี่ยงทางการคลังในระยะยาว ได้แก่ การขาดดุลการคลังในระยะยาวที่คงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากการครองเสียงข้างมากของพรรคเดโมแครตอาจส่งผลให้การปรับลดรายจ่ายด้านประกันสุขภาพ (Affordable Care Act) ตลอดจนการปรับลดรายจ่ายด้านรัฐสวัสดิการ (Entitlements) ทำได้ยากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งกลางเทอมที่ออกมายิ่งกระตุ้นให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้นโยบายด้านต่างประเทศแบบแข็งกร้าว เนื่องจากนโยบายการค้ายังอยู่ในอำนาจของประธานาธิบดี โดยเฉพาะการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ตามมาตรการปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 301 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผลักดันให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะลงนามบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีสินค้าจีนที่เหลือ 2.67 แสนล้านดอลลาร์ฯ หลังการเลือกตั้งภายในปี 61 นี้ และอาจเริ่มเก็บภาษีสินค้าดังกล่าวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 62 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อแสดงจุดยืนของนโยบายและเร่งสร้างผลงานทางการเมือง ก่อนเข้าสู่ฤดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 63

"นโยบายการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนคงยังดำเนินต่อไปได้ ภายใต้อำนาจของประธานาธิบดีที่เคยประกาศมาก่อนหน้านี้ และจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกให้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในปี 62 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าไทยอาจสูญเสียประโยชน์ทางการค้าสุทธิ คิดเป็นมูลค่า 3,100-4,500 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2562 หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.6-0.9% ของ GDP ไทย" บทวิเคราะห์ระบุ

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ผลการเลือกตั้งกลางเทอมไม่ได้ส่งผลต่อนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยตรง เนื่องจากนโยบายการค้าเป็นอำนาจพิเศษของประธานาธิบดี แม้ว่าพรรครีพับลิกันจะสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้แก่พรรคเดโมแครต แต่เนื่องจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นอำนาจของประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งปัจจุบันการใช้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947) และมาตรา 232 ของกฎหมายการขยายการค้าสหรัฐฯ (Trade Expansion Act of 1962) ประธานาธิบดีสามารถออกคำสั่งพิเศษได้โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อทิศทางความสัมพันธ์และนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนตามมาตรา 301 ที่สมาชิกทั้ง 2 พรรคในสภาคองเกรสเห็นพ้องต้องกันในประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนต่อสหรัฐฯ จากประเด็นการบังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยี ผนวกกับความต้องการลดการขาดดุลทางการค้ากับจีนของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ประเด็นความเสี่ยงสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนยังคงมีแนวโน้มที่จะรุนแรงยังมีอยู่

"อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่ามาตรการกีดกันทางการค้าส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์อาจมีท่าทีลดความรุนแรงลง เนื่องจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในระยะถัดไปมีแนวโน้มกระทบหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคในสัดส่วนที่สูงกว่าการขึ้นภาษีในรอบที่ผ่านมา" บทวิเคราะห์ระบุ

ขณะที่การออกร่างกฎหมายใหม่มีแนวโน้มยืดเยื้อและใช้เวลาในการเจรจา รวมถึงเพิ่มความเสี่ยง government shutdown ในระยะต่อไป และฝ่ายบริหารมีแนวโน้มออกคำสั่งพิเศษโดยไม่ผ่านสภาคองเกรสมากขึ้น เมื่อพรรคเดโมแครตได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้กฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมีโอกาสถูกปัดตกในวุฒิสภาสูงขึ้น ฉะนั้นการออกกฎหมายภายหลังการเลือกตั้งจะมีแนวโน้มต้องใช้การประนีประนอมกันในสภาคองเกรสมากขึ้น

หากพรรครีพับลิกันต้องการให้ร่างกฎหมายได้รับความเห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎร อาจต้องแลกกับการยอมแก้ไขรายละเอียดบางส่วนหรือให้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคเดโมแครตผ่านความเห็นชอบในวุฒิสภา เป็นไปในแนวทางคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่จะส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายใหม่ในสภาคองเกรสมีความล่าช้ากว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มที่ประธานาธิบดีทรัมป์ จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการใช้คำสั่งพิเศษสั่งการหน่วยงานรัฐโดยตรง ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารที่ไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรส

"บางนโยบายที่ยังคงต้องผ่านสภาคองเกรส มีแนวโน้มใช้เวลานานขึ้นและมีความไม่แน่นอน เช่น นโยบายการปฏิรูปภาษี และงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีจะต้องทำงานหนักขึ้นในการล็อบบี้นโยบายต่างๆ หากต้องการให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร"บทวิเคราะห์ระบุ

SCB EIC วิเคราะห์ว่า นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีน ยังคงมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกต่อเนื่องในปี 2562 การดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ายังคงเป็นอำนาจของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เนื่องจากไทยมีห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้ากับจีนโดยเฉพาะในหลายหมวดสินค้า เช่น พลาสติก ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ฯลฯ และหากเศรษฐกิจจีนเริ่มมีการชะลอตัว จะทำให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอของเศรษฐกิจจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนไร้ข้อสรุป มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะดำเนินการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมและการตอบโต้จากจีนจะยังคงมีอยู่

"ธุรกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีน จำเป็นต้องติดตามทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาจมีการประชุม G20 นอกรอบระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่อาร์เจนตินาซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ โดยกำหนดการเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน" บทวิเคราะห์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ