ม.หอการค้าฯ เผย Q3/61 ดัชนีความสามารถแข่งขัน SMEs ปรับเพิ่มเล็กน้อย หลังถูกแรงดึงจากปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 9, 2018 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ม.หอการค้าไทย ได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development BANK จัดทำดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาส 3/2561 ซึ่งจะเป็นการสำรวจ 3 ดัชนี คือ ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs, ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ และดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SMEs เพื่อนำมาประมวลเป็นดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs

โดยพบว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 43.2 ปรับตัวลดลง 0.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ส่วนไตรมาส 4/61 คาดว่าดัชนีจะลดลงไปอยู่ที่ 42.3 โดยเมื่อเปรียบเทียบดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในกลุ่มที่เป็นลูกค้า กับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. จะพบว่า ในกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว.ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับลดลง 0.9 จุด จาก 38.8 มาอยู่ที่ 37.9 สวนทางกับกลุ่มที่เป็นลูกค้าของ ธพว.ที่ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.5 จุด จากระดับ 48.3 มาอยู่ที่ 48.8

สาเหตุที่ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาส 3/61 ปรับตัวย่อลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นเพราะผู้ประกอบการมีความกังวลกับสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น กรณีสงครามการค้า ส่งผลให้การส่งออกเผชิญกับอุปสรรค และเกิดปัญหาหุ้นตกทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีกรณีที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงจากผลกระทบของเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตจึงส่งผลต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โรงแรม และภาคบริการต่างๆ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ไตรมาส 4 ไปแล้วสถานการณ์สงครามการค้าน่าจะคลี่คลายลงได้แม้จะไม่ทั้ง 100% แต่ก็จะไม่ทรุดตัวลงไปจากเดิม

ส่วนดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/61 อยู่ที่ระดับ 50.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าไตรมาส 4/61 ดัชนีจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.5 โดยเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้า ธพว. จะพบว่า ในกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว.ดัชนีลดลง 1.1 จุด จากระดับ 44.3 มาอยู่ที่ระดับ 43.2 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 1.1 จุด จากระดับ 56.8 มาอยู่ที่ระดับ 57.9

ส่วนดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/61 อยู่ที่ระดับ 53.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าไตรมาส 4/61 ดัชนีจะลดลงอยู่ที่ 52.6 โดยเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. จะพบว่า กลุ่มที่ไม่เป็นลูกค้า ธพว.ดัชนีลดลง 0.3 จุด จากระดับ 46.0 มาอยู่ที่ระดับ 45.7 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีเพิ่มขึ้น 0.7 จุด จากระดับ 58.7 มาอยู่ที่ระดับ 59.4

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาสที่ 3/61 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 3/60 เป็นต้นมา และคาดว่าในไตรมาส 4/61 ดัชนีจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 48.8

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว.กับกลุ่มที่ไม่เป็นลูกค้า ธพว. จะพบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว.ดัชนีความสามารถในการแข่งขันลดลง 0.7 จุด จาก 43.0 มาอยู่ที่ 42.3 สวนทางกับลูกค้าของ ธพว.ที่ดัชนีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น 0.8 จุด จาก 54.6 มาอยู่ที่ระดับ 55.4

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทั้ง 3 ดัชนีที่ในภาพรวมสรุปออกมาเป็นดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไตรมาส 3/61 นั้น ถูกแรงดึงจากภาพในระยะสั้น นั่นคือดัชนีสถานการณ์ทางธุรกิจ ที่พบว่ามีการฟื้นตัวอย่างอ่อนๆ แต่ระยะปานกลางและระยะยาวยังไปได้ดี ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา ก็เชื่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs จะสามารถฟื้นกลับมาในอัตราเร่งได้ตามปกติ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี 62

เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์สงครามการค้า จากที่จะมีการเจรจาทั้งสองฝ่ายระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐ และประธานาธิบดีจีนมีมุมมองในเชิงบวกมากขึ้น ประกอบกับล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรอให้การเมืองนิ่ง และอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยการประชุมรอบหน้า ขณะเดียวกันเฟดไม่ได้มีถ้อยแถลงออกมาในเชิงที่จะส่งผลกระทบให้ตลาดมีมุมมองแย่ลง นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกก็ไม่ได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันของอิหร่าน โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะไม่ขึ้นไปเหนือระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรลมากนัก และสัญญาณนักท่องเที่ยวจีนเชื่อว่าจะค่อยๆ กลับมาได้ในช่วงปลายปี จากการจัดโปรโมทด้านการท่องเที่ยวในมาตรการต่างๆ

"ม.หอการค้าไทย คาดว่าจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.4-4.8% และในส่วนของธุรกิจ SMEs แล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจของ SMEs ปีนี้จะเติบโตได้ 4.5-5% โดยเป็นมุมมองเชิงบวก แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นในช่วงไตรมาส 3" นายธนวรรธน์ระบุ

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า การจากสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของ ธพว.จะมีค่าเฉลี่ยทั้งดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของ ธพว. ดังนั้นของบ่งบอกว่าแนวทางการสนับสนุน SMEs นั้นจำเป็นต้องให้ความรู้เพื่อยกระดับธุรกิจ เช่น การทำบัญชี วางแผนธุรกิจ การตลาด และการสร้างมาตรฐานให้สินค้า เป็นต้น ควบคู่กับการเติมทุน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกัน เพิ่มศักยภาพ และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง

โดยที่ผ่านมา ธนาคารมุ่งยกระดับเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดกิจกรรมยกระดับความรู้ด้านบัญชีเดียว พัฒนามาตรฐานสินค้า เชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจ สนับสนุนการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ควบคู่ขยายตลาดออฟไลน์ทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ