(เพิ่มเติม1) สภาผู้ส่งออก คาดปี 62 ส่งออกขยายตัว 5% จากปีนี้คาด 8% เฝ้าจับตาสงครามการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 6, 2018 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 62 จะขยายตัวได้ 5% จากในปี 61 ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตในระดับ 8% (ก่อนหน้าคาดโต 9%) หลังการส่งออกในเดือนก.ย. 61 หดตัว -5.2%

โดยการคาดการณ์การส่งออกของ สรท.ในปี 62 ที่ต่ำกว่าระดับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 8% เป็นผลจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งยังต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไปว่าจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ ออกมาอีกหรือไม่ แม้จะมีการประเมินว่าสงครามการค้าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศไทยมากกว่าเป็นปัจจัยลบ ประกอบกับฐานการส่งออกปี 61 มีการเติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 8%

ขณะเดียวกันแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรมีทิศทางปรับตัวลดลงจากปีก่อน อาทิ ยางพารา น้ำตาล ซึ่งมองว่าหากราคาสามารถปรับตัวขึ้นมาได้ จะส่งผลให้โอกาสในการเติบโตของการส่งออกจะมีได้มากขึ้น ทั้งนี้ สรท.คาดการณ์การส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่มเกษตรปี 62 ดังนี้ ข้าว เติบโต 0% จากปีนี้คาดโต 8%, ยางพารา เติบโต 5% จากปีนี้คาดโต -24%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เติบโต 5% จากปีนี้คาดโต 11% และน้ำตาลทราย เติบโต -7% จากปีนี้คาดโต 3%

สินค้ากลุ่มอาหารในปี 62 คาดเติบโตได้ 6.6% จากปีนี้ที่คาดโต 10% สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า และ Hard Disk Drive คาดปีหน้าเติบโตได้ 7% จากปีนี้ที่คาดโต 11% เครื่องปรับอากาศและเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ คาดปีหน้าเติบโตได้ 5% เท่ากับในปีนี้ สินค้ากลุ่มยานพาหนะ คาดว่าปีหน้าจะเติบโตได้ 8-10% จากปีนี้ที่คาดโต 18% และสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน เช่น ผลิตภัณฑ์ยางที่คาดว่าปีหน้าจะเติบโต 10% จากปีนี้ที่คาดโต 8% เคมีภัณฑ์ ปีหน้าคาดโต 6% จากปีนี้ที่คาดโต 25% และผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่ปีหน้าคาดโต 6% จากปีนี้ที่คาดโต 16%

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท. ยังคาดว่า การส่งออกในปี 61 จะเติบโตได้ 8% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (กรอบ 32.50-33.50) และมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. การส่งออกในตลาดหลักและตลาด CLMV และตลาดอาเซียน ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2. ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกในไตรมาส 4 อยู่ที่ระดับ 64.8 แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกไทย และแนวโน้มว่ามูลค่าการส่งออกเดือนต.ค.จะปรับตัวสูงขึ้น 3. ผลกระทบเชิงบวกจากสงครามการค้า ที่พบว่าสินค้าในกลุ่มเดียวกับที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีจากจีน มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ 4. กลุ่มประเทศในเอเชีย และอาเซียน อาจได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทระดับ Global Supply Chain ทั้งในส่วนของไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดึงดูดนักลงทุนที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ประกอบด้วย 1.ความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีน และสินค้าจากจีนบางส่วนไหลเข้ามาในเอเชียกลายเป็นคู่แข่งของสินค้าไทย ซึ่งต้องติดตามผลเจรจาระหว่างสหรัฐ และจีน ว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้หรือไม่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในปลายเดือนพ.ย.นี้ 2. ประเทศคู่ค้าของไทยในกลุ่มอเมริกาใต้ และเอชียบางประเทศเผชิญปัญหาวิกฤติค่าเงินและศักยภาพในการชำระหนี้ ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อสินค้าจากไทย 3. สินค้าไทยถูกตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐ 11 รายการ ซึ่งอาจทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง

4. ความไม่แน่นอนของการเจรจา Brexit ระหว่างอียูและอังกฤษที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทางด้านการค้าการลงทุนในยุโรป 5.ปัญหามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ทำให้ความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอุปสงค์น้ำมันดิบที่คาดว่าจะอ่อนตัวลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท.ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1. ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่ง ในขณะที่ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และชำระค่าสินค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดบทบาทสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 2. ภาครัฐต้องติดตามสถานการณ์นำเข้าสินค้า และการพิจารณา GSP ของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทยอีก 3,400 รายการอย่างใกล้ชิด 3. ภาครัฐควรเร่งเปิดตลาดคู่ค้าใหม่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงโครงสร้างต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ ในช่วงที่ค่าเงินมีความผันผวน 4.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือ และการขนส่งระบบราง และทางน้ำภายในประเทศให้เป็นแกนหลักในการขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก 5. ส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce B2B Cross Border ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า และกลุ่ม SMEs รวมทั้ง Startup

https://youtu.be/-RC0IdEgUfU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ