iBank รอคนร.เคาะแผนธุรกิจหลังคลังให้เงินเพิ่มทุน 1.81 หมื่นลบ. มุ่งเน้นขยายสินเชื่อ-ลด NPF, ชะลอแผนหาพันธมิตร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 9, 2018 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย ผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ ไอแบงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาแผนเพื่อขยายธุรกิจหลังได้รับเงินเพิ่มทุน จำนวน 1.81 หมื่นล้านบาทจากกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว

สำหรับในปี 2562 ธนาคารมีเป้าหมายการเติบโตด้านสินเชื่อที่ 1.25 หมื่นล้านบาท หรือ 20-25% ขณะที่คาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงาน ที่ 1.13 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.08 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากปี 2561 ที่คาดว่าจะพลิกกับมามีกำไร 600 ล้านบาท ซึ่งครั้งแรกหลังจากขาดทุนต่อเนื่อง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้าง อยู่ที่ 4.9-5 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นลูกค้ามุสลิม ประมาณ 30%

ทั้งนี้ ในปีหน้า ธนาคารฯ จะเน้นการพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มลูกค้า ซึ่งจะมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มมุสลิมตามพันธกิจของธนาคาร ขณะเดียวกันก็จะเป็นทางเลือกที่ดีให้ลูกค้าทั่วไปด้วย พัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มศักยภาพและความยั่งยืน รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพสินเชื่อ โดยจะมีการปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ การคัดกรองลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าใหม่ที่เข้ามาจะไม่กลายเป็นปัญหาในระยะต่อไปกับธนาคาร

"เราคงไม่เน้นลูกค้ารายใหญ่มากนัก แต่จะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าขนาดกลางเป็นหลัก เนื่องจากพิจารณาแล้วพบว่าจะเป็นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมให้ธนาคาร และยังเป็นการลดการกระจุกตัวของสินเชื่อด้วย ส่วนลูกค้ารายย่อยก็ยังดำเนินการควบคู่กันไป โดยในช่วงที่ผ่านมาคำขอสินเชื่อและการอนุมัติสินเชื่อในกลุ่มนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจอยู่แล้ว โดยการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อนั้นจะยึดแนวธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ โรงพยาบาล ธุรกิจอาหารฮาลาล เป็นต้น โดยจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้เชื่อว่าในปี 2562 ผลงานจะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน" นายวุฒิชัย กล่าว

ในส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 9.1-9.2 พันล้านบาท โดยธนาคารมีแผนในการบริหารจัดการหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภายในสิ้นปี 2561 หนี้ NPF จะลดลงต่ำกว่า 9 พันล้านบาทอย่างแน่นอน และตามแผนงานของธนาคาร ภายใน 2-3 ปี การแก้ไขปัญหาหนี้เสียจะชัดเจนแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยคาดว่าหนี้เสียจะลดลงมาต่ำกว่าระดับ 5% อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2562 ธนาคารจะเริ่มพัฒนาการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล แบงก์กิ้ง และโมบาย แบงก์กิ้ง เพื่อมอบความสะดวกสบายให้ลูกค้า โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 3-4/2562 พร้อมทั้งยืนยันว่าธนาคารยังไม่มีแผนการปรับลดสาขาลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 102 สาขา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับการขยายตัวของธนาคารในอนาคต

ส่วนแผนในการหาพันธมิตรของธนาคารนั้น นายวุฒิชัย กล่าวว่า ขณะนี้คงชะลอออกไปก่อน เนื่องจากปัจจุบันสถานะของธนาคารยังติดลบ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ยังติดลบหลักพันกว่าล้านบาท ทำให้เงื่อนไขในการหาพันธมิตรยังไม่ลงด้วย และไม่เหมาะสมในช่วงนี้

"นโยบายในการหาพันธมิตรเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังมอบหมาย แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาหลายอย่างทำให้เงื่อนไขในการหาพันธมิตรต้องชะลอออกไป แต่ถ้าในระยะต่อไปสถานะทางการเงินของธนาคารกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เช่น หลังเพิ่มทุน 1.81 หมื่นล้านบาทแล้ว เชื่อว่าในปีหน้า BIS ของธนาคารจะกลับมาเป็นบวกได้ ก็อาจจะกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกครั้ง หรือขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายรับได้ด้วย" นายวุฒิชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ