สำนักวิจัยเห็นพ้อง กนง.พรุ่งนี้ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เล็งขึ้นในธ.ค.-ต้นปี 62 หลังเสียงแตกเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2018 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจประสานเสียงฟันธง กนง.รอบนี้ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เหตุไม่มีปัจจัยกดดันจากเงินเฟ้อ รอตกผลึกสถานการณ์เศรษฐกิจเดือน ต.ค.61 ทั้งส่งออก-ท่องเที่ยว แต่แนะจับตากรรมการ กนง.จะเสียงแตกให้ปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 2:5 เสียง เป็น 3:4 เสียงหรือไม่ พร้อมชี้กนง.รอบ ธ.ค.มีโอกาสลุ้นขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า

           สถาบัน                         มติ กนง.(14 พ.ย.)         อัตราดอกเบี้ย
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย          คง                    1.50%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธ.ทหารไทย                   คง                    1.50%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                                 คง                    1.50%
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา                              คง                    1.50%
          นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบวันที่ 14 พ.ย.61 นี้ ที่ประชุมจะยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% เนื่องจากไม่ได้มีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่มีเหตุผลที่ กนง.จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสะกัดเงินเฟ้อ
          นอกจากนี้ สถานการณ์ของเศรษฐกิจในภูมิภาคยังมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเปราะบาง ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้จึงอาจจะไม่เหมาะสมหากจะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง
          ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนต.ค.61 อยู่ที่ระดับ 1.23% และเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.61) อยู่ที่ระดับ 1.15% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ต.ค.61 อยู่ที่ระดับ 0.75% และเฉลี่ย 10 เดือน อยู่ที่ระดับ 0.72%
          "กนง.น่าจะยังยึดเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นสำคัญ ไม่เปลี่ยนเป้าหมาย ตอนนี้เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ 1-4% เงินเฟ้อล่าสุดที่พาณิชย์ประกาศอยู่ที่ 1.2% เพราะฉะนั้นแรงกดดันเงินเฟ้อหายไปจากที่ราคาน้ำมันถูก จึงไม่มีเหตุผลที่ กนง.จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อยังต่ำ ยังใกล้เคียงกรอบล่างที่ 1% ขณะเดียวกัน ธปท.มีมุมมองต่อเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ ว่าฟื้นตัวอย่างเปราะบาง จึงไม่น่าจะมีเหตุที่จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อไม่สูง และถ้าขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจชะลอลง และฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง" นายธนวรรธน์ กล่าว
          พร้อมระบุว่า การประชุม กนง.ในวันพุธนี้ (14 พ.ย.) สิ่งที่ต้องจับตานอกเหนือไปจากการลงมติอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังต้องจับตาว่าคณะกรรมการ กนง.จะมีเสียงแตกเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หลังจากการประชุมครั้งล่าสุด (19 ก.ย.61) ที่มีคณะกรรมการ 2 คน จาก 7 คนที่เห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่การประชุมรอบก่อนหน้านั้น (ส.ค.61) มีคณะกรรมการเพียง 1 คน จาก 7 คน ที่เห็นว่าควรปรับขึ้นดอกเบี้ย
          "การคงดอกเบี้ยในระดับต่ำจะไม่เป็นการผลักดันให้คนออม อาจทำให้คนนำเงินไปลงทุน หรือนำไปใช้เพื่อการเก็งกำไร ดังนั้น กนง.จึงมี 2 เสียงที่เห็นว่าดอกเบี้ยต่ำนานแล้ว ประชุมรอบนี้คงต้องดูว่าเสียงจะเพิ่มเป็น 3 เสียงหรือไม่ แต่เชื่อว่าการคงดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นมากกว่า เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นแบบกระจายตัวมากขึ้น เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ย คนที่จะเจ็บตัวเร็วคือเอสเอ็มอีและรายย่อย เพราะเขายังไม่เข้มแข็งภายใต้เศรษฐกิจตอนนี้ แต่ต้องดูว่าจะมีเสียงที่ 3 เกิดขึ้นไหม เพื่อดูทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต " นายธนวรรธน์ระบุ
          อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า กนง.จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร็วสุดในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า
          ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) คาดว่า มติของที่ประชุม กนง.รอบนี้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโบายไว้ในระดับ 1.50% เช่นเดิม โดยจะรอพิจารณาข้อมูลเศรษกิจต่างๆ ที่สำคัญในเดือน ต.ค.ก่อน ทั้งตัวเลขการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งจะพบว่าในเดือนก.ย.61 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกไทยติดลบ 5.20% ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่ ก.พ.60 โดยมีสาเหตุสำคัญจากผลของสงครามการค้า ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งปัญหาค่าเงิน
          "เชื่อว่า กนง.รอบบนี้ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% เพราะน่าจะรอดูข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนต.ค.นี้ก่อน ทั้งส่งออก, ท่องเที่ยว ซึ่งถ้าส่งออกในเดือน ต.ค.ติดลบอีกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และการท่องเที่ยวในเดือนต.ค.ยังซึมตัว ก็เชื่อว่าดอกเบี้ยคงยังไม่ปรับขึ้น" นายนริศกล่าว
          พร้อมระบุว่า การประชุม กนง.ในรอบเดือน ธ.ค.61 เป็นที่น่าจับตามากกว่า เพราะจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า กนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ โดยสิ่งที่ กนง.ควรจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น คือ เศรษฐกิจนับจากนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร การที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้นานเกินไปจะกระทบต่อผู้ฝากเงิน และเป็นการกดดันให้ประชาชนหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เพื่อหวังผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไปนี้จะเป็นการบิดเบือนกลไกเศรษฐกิจในระยะยาวได้
          "ดอกเบี้ยต่ำจะกระทบต่อผู้ฝากเงิน การที่ดอกเบี้ยติดดินแบบนี้ ทำให้เขาต้องหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่ง กนง.คงต้อง balance ใน 2 ขานี้ให้ดี ทั้งผู้ฝาก และผู้กู้" นายนริศ ระบุ
          นายนริศ ประเมินว่า การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะเริ่มเห็นได้ในการประชุม กนง.เดือนธ.ค.61 โดยปรับขึ้น 0.25% และในปี 62 ก็มีโอกาสจะปรับขึ้นได้อีก 1-2 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล แต่มองว่ายังไม่ใช่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
          ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมในวันที่ 14 พ.ย.นี้ รวมถึงการประชุมรอบสุดท้ายในเดือนธ.ค.61 ด้วย แม้ว่าคณะกรรมการบางท่านจะเริ่มส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทย แต่คงต้องยอมรับว่าโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นนโยบายการเงินในปีนี้คงมีไม่มาก หลังจากที่ภาคเศรษฐกิจต่างประเทศของไทย ทั้งการท่องเที่ยว และการส่งออกมีสัญญาณอ่อนแรงลงพร้อมกัน
          ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับที่ทางการสามารถบริหารจัดการได้ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะยังคงมีจำกัดต่อเนื่องไปจนถึงปี 62 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่คงทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าราคาน้ำมันจะยังคงทรงตัวในระดับค่อนข้างสูง นอกจากนี้ มาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีการบังคับใช้ในเดือนเม.ย.62 คงเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้การควบคุมความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมาเป็นระยะเวลานานไปได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ กนง.น่าจะยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
          สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในปีหน้าที่อาจจะมีน้ำหนักต่อการพิจารณาจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. พัฒนาการของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากความเชื่อมโยงด้านการค้าและเศรษฐกิจของจีนและอาเซียนที่มีความใกล้ชิด ซึ่งหากการเจรจาระหว่างสหรัฐ และจีนไมได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้สหรัฐปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนในรอบ 2 ในช่วงต้นปี 62 รวมทั้งอาจจะพิจารณาเก็บภาษีสินค้าที่เหลือของจีนอีก 2.67 แสนล้านดอลลาร์ฯ ยังมีอยู่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 62 อย่างมีนัยสำคัญ
          "ปัจจัยดังกล่าว อาจส่งผลให้ทางการจีนดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น สวนทางกับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด อันอาจจะเป็นประเด็นสร้างความผันผวนของตลาดเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งกดดันให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงได้อีก อันกลายเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งโดยรวมจะมีผลต่อแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่คงปรับลดลง" บทวิเคราะห์ระบุ
          นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ กนง.จะต้องพิจารณาอีกเรื่อง คือ 2.ผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของเฟด เนื่องจากความเปราะบางของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายๆ ประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้มีโอกาสที่ประเทศที่มีเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศอ่อนแอ อาจจะเผชิญความผันผวนของค่าเงิน และกดดันให้ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงได้
          "ภายใต้สุมมุติฐานที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่จำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะเริ่มพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายไตรมาส 1/62 หากโมเมนตัมของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น"บทวิเคราะห์ระบุ
          กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่า กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 14 พ.ย.นี้ โดยมองว่ามีโอกาสที่ กนง.จะเสียงแตกมากขึ้นในการลงมติเทียบกับผลโหวต 5 ต่อ 2 เสียงในการประชุมเมื่อเดือนก.ย.61 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะทรงตัวที่ระดับต่ำ แต่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพในระยะยาวเริ่มสะสมความเปราะบาง สะท้อนจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งขาดการประเมินความเสี่ยงที่แท้จริงจากการลงทุน
          อีกทั้ง กนง. ต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ในระยะข้างหน้า จึงคาดว่า กนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.75% ในการประชุมเดือน ธ.ค.61 หากการชะลอตัวของภาคส่งออกอยู่ในระดับที่ยังสามารถประคับประคองได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ