พาณิชย์ แนะผู้ผลิต-ผู้ส่งออกไทยเร่งบุกตลาดน้ำตาล หลังรัฐบาลเมียนมากลับมาอนุญาต Re-export อีกครั้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2018 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ได้รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 รัฐบาลเมียนมาได้กลับมาอนุญาตการ Re-export น้ำตาล หลังจากที่สั่งระงับไป ส่งผลให้ธุรกิจน้ำตาลกลับมาสร้างรายได้และเพิ่มปริมาณการจ้างงานในประเทศเมียนมามากขึ้น ซึ่งธุรกิจด้านการ Re-export น้ำตาล ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากราคาขายสำหรับการ Re-export น้ำตาลมีมูลค่าสูงถึง 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งสูงกว่าการนำเข้าน้ำตาลของประเทศเมียนมาที่มูลค่าเพียง 480 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ทั้งนี้ รายการปริมาณการนำเข้าน้ำตาลนั้นต้องสอดคล้องกับปริมาณน้ำตาลที่จะทำการส่งออกต่อไป โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตทุกรายต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำเข้าและ Re-export หากผู้ประกอบการรายใดนำเข้าน้ำตาลผ่านระบบ Re-export เพื่อขายภายในตลาดเมียนมา จะถูกดำเนินการทางกฎหมาย

ในปี 2558 - 2559 กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ได้มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบการเมียนมาสามารถ Re-export สินค้าน้ำตาล ทำให้เมียนมามีการส่งออกน้ำตาลมากกว่า 70,000 ตัน มูลค่า 394 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2559-2560 การส่งออกน้ำตาลมีมูลค่าพุ่งสูงกว่า 2 ล้านตัน มูลค่า 1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ประกอบการเมียนมามีการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศไทยและอินเดียเป็นหลัก โดยน้ำตาลเหล่านี้ จะถูกส่งต่อไปยังประเทศจีน เนื่องจากคุณภาพของน้ำตาลที่ผลิตในประเทศเมียนมายังไม่ได้มาตรฐานเพียงพอสำหรับการส่งออกได้ จนกระทั่งมีการถูกระงับการอนุญาต Re-export น้ำตาลไป เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวเสริมว่า น้ำตาลถือเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกหลักไปยังประเทศเมียนมาเพื่อ Re-export ต่อไปยังประเทศจีน แต่หลังจากที่ได้มีการระงับการออกใบอนุญาต ในการ Re-export สินค้าน้ำตาลชั่วคราว ทำให้ยอดการส่งออกทั้งในประเทศไทยและประเทศเมียนมาต่างลดลง ดังนั้น การกลับมาอนุญาตการ Re-export น้ำตาลอีกครั้ง เป็นผลดีต่อผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำตาลในประเทศไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเมียนมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ