ดีอี จับมือเอกชนร่วมทดสอบเทคโนโลยี 5G ในปี 62 ใช้พื้นที่ EEC นำร่องเป็น Smart Port-Smart Airport

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2018 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า คณะทำงานได้หารือประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา วางกรอบในการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในห้องทดลองและทดสอบภาคสนาม โดยกระทรวงจะทดสอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับแอพพลิเคชั่นในด้านต่างๆ โดยจะทดสอบในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่วนกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะอำนวยความสะดวกและพิจารณาย่านความถี่มาใช้ในการทดสอบ โดยน่าจะเป็นคลื่นนความถี่ตั้งแต่ 3300-4200 เมกกะเฮิรตซ์ และ 24,000-29,000 เมกกะเฮิรตซ์ หรือ 24-29 กิกะเฮิรตซ์

โดย กสทช.จะทดสอบที่สำนักงานใหญ่ เน้นการทดสอบเกี่ยวกับการนำคลื่นความถี่มาใช้งาน และสัญญาณรบกวนที่เกิดจากการใช้งานคลื่นความถี่ การทำงานของคณะทำงานเตรียมการ 5G ยังทำงานร่วมกับสมาชิกที่มาจากหน่วงานราชการเช่น มหาวิทยาลัย กสทช. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ 5G alliance ประกอบด้วยหัวเว่ย เทคโนโลยี ,อีริคสัน ,ควอคอมพ์ ,อินเทล,โนเกีย และตัวแทนผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายหลักทั้งหมดรวมทีโอทีและกสท โทรคมนาคม, สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT)

ทั้งนี้ จะมีกำหนดการจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 23 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เพื่อหารือในประเด็นสถานที่ในการกำหนดตั้ง 5G lab เพื่อให้สมาชิกเข้ามาพิจารณาลงทุนติดตั้งทดสอบในโครงการ ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เสนอจะอำนวยความสะดวกในสถานที่เพื่อนำมาใช้พัฒนาเป็นห้องแล็บ

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G กล่าวว่า สมาคมฯได้รับมอบหมายให้เสนอว่ามีกฎระเบียบหรือกฎหมายอะไรบ้างที่จะเป็นข้อจำกัดในการทดสอบ เชื่อว่า กสทช.ซึ่งดูแลเรื่องการนำคลื่นความถี่มาทดสอบในโครงการจะสามารถดำเนินการอำนวยความสะดวกได้ ส่วนที่นอกเหนือจากอำนาจของ กสทช. กระทรวงดิอีจะเป็นผู้ประสานทั้งการนำเข้าอุปกรณ์เข้ามาทดสอบ ทั้งนี้คาดว่าการทดสอบ 5G น่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 62

โดยก่อนปีใหม่กระทรวงดีอีจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มาร่วมกันเป็นคณะทำงานให้มาลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อเป็นการประกาศการเข้าสู่การทดสอบเพื่อนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาที่จะใช้ในการทดสอบอยู่ที่ 270 วัน โดยอาจจะขยายเวลาเพิ่มหากยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ส่วนกรอบวงเงินงบประมาณกระทรวงดีอีได้ขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 350 ล้านบาท โดยเป็นงบผูกพันเฉพาะในการทดสอบระยะแรกได้งบประมาณ 130 ล้านบาท ในส่วนนี้เมื่อเทียบกับการทดสอบ 5G ในสหราชอาณาจักรที่ใช้งประมาณถึง 700 ล้านบาท กล่าวได้ว่างบประมาณของประเทศไทยยังน้อยมาก ในส่วนนี้กระทรวงและ กสทช.ได้ขอความร่วมมือเอกชนที่จะนำอุปกรณ์เข้ามาทดสอบให้ช่วยกันสนับสนุนเพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีเดินหน้าต่อไปได้

"สิ่งที่จะทำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือการทดสอบ สมาร์ทพอร์ต หรือท่าเรืออัจฉริยะโดยใช้ 5G ในการเชื่อมต่อระบบการบริหารจัดการท่าเรือ การขนส่งสินค้า และเชื่อมต่อไปยัง สมาร์ททรานสปอเตชั่น หรือการขนส่งที่มีระบบติดตามรถบรรทุก การใช้เทคโนโลยีในการจัดระเบียบลด การเชื่อมโยงการขนส่งกับระบบศุลกากร รวมถึงสมาร์ทแอร์พอร์ตที่สนามบินอู่ตะเภาที่จะมีทั้งการใช้ 5G เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลของสนามบิน การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในการค้นหาข้อมูลการเข้าไปใช้บริการในสนามบินเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นได้นำมาทดลองก่อนใช้จริงในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก"นายสืบศักดิ์ กล่าว

ส่วนการจัดพื้นที่ศูนย์แสดงเทคโนโลยี 5G มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จะอำนวยความสะดวกพื้นที่ในวิทยาเขตศรีราชา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ