กรมการค้าต่างประเทศกับศุลกากรกลางเยอรมนี ร่วมหารือ-แลกเปลี่ยนการรับรองตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 17, 2018 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 กรมฯ ได้ต้อนรับคณะผู้แทนจากหน่วยงาน The German Federal Ministry of Finance (BMF) พร้อมด้วยคณะจาก The German Central Customs Authority (ZKA) และผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทยอย่างอบอุ่น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูง (BMF) Mr. Thomas Rapp ซึ่งจะมาดำรงตำแหน่ง German Customs liaison officer ประจำประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ซึ่ง ZKA ถือเป็นหน่วยงานศุลกากรกลางของเยอรมนี อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเยอรมนี มีอำนาจหน้าที่ปราบปรามการฉ้อฉลทางการค้า โดยการหารือในครั้งนี้กรมฯ ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไทยและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย

นอกจากนี้ ยังแจ้งให้หน่วยงานเยอรมนีทราบว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างกฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti Circumvention Law) และอยู่ระหว่างการศึกษาหลักเกณฑ์การพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้หลักเกณฑ์ Non-preferential สำหรับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไม่ใช้สิทธิพิเศษ หรือ Form C/O ทั่วไป อีกด้วย

นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากศุลกากรเยอรมนีเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า (Circumvention) ทั้งในเชิงการติดตาม แจ้งเตือน และป้องปราม จะทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไทยมีประสิทธิภาพ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหา Circumvention ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย รวมทั้งเห็นว่า การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าของหน่วยงานเยอรมนีภายใต้หลักเกณฑ์ Non-preferential จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย

จากข้อหารือดังกล่าวฝ่ายเยอรมนียินดีให้ความร่วมมือกับกรมฯ และกล่าวแสดงความขอบคุณกรมการค้าต่างประเทศที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานเยอรมนีเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ภายใต้ความตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ZKA และ กรมการค้าต่างประเทศที่ได้ลงนามไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 2008 และยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของเยอรมนีให้แก่กรมการค้าต่างประเทศ

อนึ่ง ประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกันมาโดยตลอด โดยในปี 2561 (ม.ค.–ก.ย. 61) มีมูลค่าการค้ารวมเท่ากับ 9,131.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 และไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ