บลจ.ทิสโก้ เตือนจัดพอร์ตหลากหลายรับมือตลาดหุ้นผันผวนต่อเนื่องปี 62 มอง"ตัวฉุดเยอะ ตัวช่วยน้อย"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 20, 2018 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด บลจ. ทิสโก้ กล่าวในงานสัมมนา TISCO Wealth Investment Forum ว่า บลจ.ทิสโก้ประเมินว่าในปี 62 ภาวะการลงทุนของตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลกจะผันผวนไม่ต่างจากปี 61 เพราะมีปัจจัยต่างๆ เข้ามากระทบตลอดทั้งปี โดยตลาดหุ้นไทยต้องระวังแรงขายทำกำไรหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากนักลงทุนจะเริ่มกังวลถึงความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าอาจจะมาจากหลายพรรคการเมือง รวมไปถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยปรับขึ้นในปี 62

ส่วนตลาดหุ้นโลกต้องจับตาความต่อเนื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง และการยุติมาตรการ QE ของยุโรป รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่หากยังคงยืดเยื้อ และไม่มีข้อสรุปนั้น ในระยะกลางอาจจะได้เห็นผลกระทบของกรณีดังกล่าวสะท้อนไปยังอัตราการขยายตัวของกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิค ในฐานะที่เป็นผู้เกี่ยวข้องหลักในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการหลายๆ ประเภท

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปี 62 บลจ.ทิสโก้มองว่าด้วยความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้น นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังในเลือกลงทุนให้มากขึ้น (Selective Buy) พร้อมให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตลงทุน ด้วยการเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท (Asset Allocation) เพื่อลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ในส่วนกองทุนหุ้นนั้นคาดว่าจะมีความผันผวนสูง โดยตลาดหุ้นที่ บลจ.ทิสโก้มองว่ายังน่าลงทุน คือ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะมีปัจจัยบวกที่สำคัญรออยู่ คือ การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และราคาหุ้นอยู่ในระดับที่ไม่แพง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยเป็นอีกตลาดหุ้นหนึ่งที่น่าสนใจลงทุน เพราะมีปัจจัยบวกจากข่าวการเลือกตั้ง เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) ก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีรายได้ที่ไม่ผันผวนนักเพราะธุรกิจมีความสัมพันธ์กับวัฏจักรของเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย รวมถึงหุ้นกลุ่มการเงินสหรัฐฯ ที่ผลประกอบการยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งตามสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตได้ดี อีกทั้งคาดว่าจะได้รับผลดีจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า ในปี 62 ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะมี"ตัวฉุดเยอะ แต่ตัวช่วยน้อย" โดยตัวฉุดหลักมาจาก 1.สงครามการค้า หากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกให้ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนและกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่ในปีหน้า จากปีนี้ที่ตัวเลขการส่งออกของทั่วโลกน่าจะเติบโตได้ในระดับที่ค่อนข้างดี เพราะผู้ประกอบการเร่งส่งออกสินค้าก่อนที่ผลของการประกาศขึ้นภาษีจะมีผลบังคับใช้

2. แรงส่งจากการปรับลดภาษีและเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าจะแผ่วลงในช่วงปลายปีหน้า และจะเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจต่อเนื่องไปถึงปี 63 และ 3. แรงกดดันจากการขึ้นภาษีการบริโภคของญี่ปุ่นในเดือน ต.ค. 2561 อาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกหดตัว

ขณะที่ตัวช่วยมีน้อยลง จากภาครัฐและธนาคารกลางมีเครื่องมือจำกัดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอลงแรง หากพิจารณาจากนโยบายการเงิน เช่น นโยบาย QE และนโยบายดอกเบี้ยที่กำลังถูกถอนออกเรื่อยๆ เนื่องจากเงินเฟ้อเริ่มฟื้นตัว ทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าลดงบดุลและขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะหยุด QE ภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ปีหน้า ทำให้นโยบายการเงินเริ่มตึงตัวขึ้น และสภาพคล่องที่ล้นโลกเริ่มถูกทยอยดึงออกทีละน้อย

ด้านนโยบายการคลัง ก่อนหน้านี้สหรัฐถือเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวที่ยังพอมีกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สหรัฐกลับนำกระสุนมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ โดยได้ประกาศลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาลงในปีที่แล้ว รวมทั้งผ่านร่างงบประมาณเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ จึงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้อย่างร้อนแรงในปีนี้ แต่ปกติการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้มักจะทำในช่วงเศรษฐกิจขาลงเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นตรงกันข้าม โดยอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ต่ำกว่า 4% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 50 ปี การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีมาก ดังนั้น การดำเนินนโยบายดังกล่าวจึงกลายเป็นการสร้างภาระหนี้ภาครัฐโดยไม่จำเป็นและยังเป็นข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

ส่วนญี่ปุ่นและยุโรป การใช้นโยบายการคลัง เช่น การลดภาษีหรือเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐค่อนข้างมีข้อจำกัด เนื่องจากรัฐบาลมีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว ขณะที่จีนก็ประสบปัญหาเรื่องภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ทำให้เครื่องมือเดิมๆ เช่น การปล่อยกู้และการลงทุนไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป จีนจึงต้องหันไปใช้เครื่องมืออื่น เช่น การลดภาษีและการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เห็นผลช้ากว่า และรัฐบาลก็ลังเลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ เนื่องจากกลัวปัญหาหนี้ที่จะตามมาในระยะยาว

สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยในปี 62 นายคมศร กล่าวว่า การท่องเที่ยวและการส่งออกที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีแนวโน้มอ่อนกำลังลงในปีหน้า โดยการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่ง ESU ประเมินว่าเป็นผลจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงแรงในปีนี้ (เงินหยวนอ่อนค่าลงประมาณ 11% นับจากเดือนเม.ย.) ฉะนั้นถ้าในปีหน้าค่าเงินหยวนไม่ฟื้นตัว โอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับมาโตดีคงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ กรณีที่จีนยกเลิกการห้ามขายแพ็คเกจทัวร์ไปเกาหลีเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ในไตรมาส 2 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเกาหลีเติบโตสูงถึง 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้น เกาหลีจึงน่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญและทำให้การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบพอสมควร

ส่วนการส่งออกในปี 62 น่าจะชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีประมาณ 8% โดย 3 % จาก 8% มาจากการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ซึ่งถ้าราคาน้ำมัน (Brent) ยังทรงตัวอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปีหน้าการส่งออกสินค้าเหล่านี้น่าจะไม่เติบโต ส่วนอีก 2% มาจากการส่งออกรถยนต์ที่ในปีหน้าจะได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ในออสเตรเลียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย ติดลบติดต่อกันต่อเนื่องมาหลายเดือน จึงน่าจะทำให้การส่งออกรถยนต์ในปีหน้าไม่ค่อยสดใสนัก ส่วนที่เหลือจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าค่อนข้างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ภาพของเศรษฐกิจที่ดูชะลอลง ประกอบกับข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ น่าจะทำให้ปีหน้าเป็นปีที่ตลาดผันผวนไม่น้อยไปกว่าปีนี้ และการลงทุนยังคงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง

นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 1/62 จะทำจุดสูงสุดของปี เพราะช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อรับปันผล และในช่วงนี้หุ้นไทยซื้อขายในราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยปัจจุบันมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ที่ 14.5 เท่า จากค่าเฉลี่ยในอดีตที่อยู่ที่ 15.5 เท่า

สำหรับแนวรับและแนวต้านในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าหุ้นไทยจะมีแนวต้านที่ 1,780 จุด และมีแนวรับที่ 1,600 จุด ส่วนหุ้นเด่นสำหรับไตรมาสที่ 1 แนะนำให้เข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ คือ BBL หุ้นกลุ่มรับเหมา คือ CK หุ้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการ EEC คือ WHA หุ้นกลุ่มขนส่ง คือ BTS และหุ้นกลุ่มสื่อนอกบ้านคือ PLANB

"ในปีหน้าตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนใกล้เคียงหรือมากกว่าปีนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนไปด้วย โดยบล.ทิสโก้มองว่าหุ้นไทยจะผันผวนในกรอบกว้าง ซึ่งต้องจับตาในเดือนมี.ค. 2562 ว่า ปัจจัยบวกเรื่องการเลือกตั้งและการจ่ายปันผลของบริษัทต่างๆ (Dividend & Pre Election Rally) จะเป็นแรงส่งทำให้ดัชนีหุ้นไทยยืนเหนือระดับ 1,780 จุดได้หรือไม่ ซึ่งบล.ทิสโก้มองว่าเป็นระดับสูงสุดของปี 62 แต่ในทางเทคนิคหากดัชนีไปยืนเหนือระดับดังกล่าวได้ หุ้นไทยจะไปต่อที่ 1,850-1,900 จุด กรณีที่ยืนไม่ได้หรือไม่ทะลุ 1,780 จุด หุ้นไทยจะเข้าสู่ขาลงครั้งใหญ่ และจะเป็นขาลงต่อเนื่องยาวนานไปอีก 2-3 ปี โดยมีแนวรับแรกที่ 1,600 จุด จากนั้นจึงค่อยมาทบทวนกันอีกรอบ"นายวิวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าหุ้นไทยทั้งปี 62 จะเป็นลักษณะแกว่งตัวออกข้าง หรือปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องติดตามสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศในขณะนั้นมาประกอบกัน ลักษณะของการลงทุนในหุ้นไทยช่วงนี้จึงแนะนำให้ลงทุนในระยะสั้น ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องและประเมินสถานการณ์เดือนต่อเดือน ส่วนการลงทุนในทองคำนั้นประเมินว่าในปี 62 ราคาทองคำน่าจะปรับตัวขึ้นตามความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยไว้จัดพอร์ตการลงทุน โดยประเมินแนวต้านของทองคำไว้ที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ