รมว.ดีอี เผยบริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมทั้งยุโรปและเอเชียสนใจร่วมพัฒนา 5G TestBed ในพื้นที่ EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 23, 2018 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มีนโยบายส่งเสริมและเร่งรัดการใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย โดยระยะแรกมีแผนการจัดตั้ง 5G TestBed ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย Startups ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม เป็นต้น เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล บนเทคโนโลยี 5G โดยจะเป็น 5G TestBed ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับ 5G TestBed แห่งนี้ ซึ่งจัดตั้งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จะเป็นศูนย์กลางการทดสอบเทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย โดยมีแผนการทำการทดสอบภาคสนาม (5G Field Trials) ในกลางปี 2562 โดยการทดสอบการใช้ประโยชน์ 5G (5G Use Cases) อาทิ Tele Medicine , Smart Manufacturing , Smart Bus ตลอดจน Autonomous Vehicle เป็นต้น

โดยในวันนี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม 3 รายใหญ่ของโลก ได้แก่ อีริคสัน หัวเว่ย และโนเกีย รวมทั้ง Dassult ประเทศฝรั่งเศส ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านวิศวกรรมและการออกแบบด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ แสดงความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่จริงที่จะใช้เป็น Test Lab พร้อมทำความตกลงว่าจะมีความร่วมมืออย่างไร เพื่อให้เกิดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด และต่อไปจะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย

"บริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี 5G สนใจเข้ามาร่วมกันพัฒนาระบบกับเรา เพราะเรามีนโยบายเศรษฐกิจที่แหลมคม มีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวดึงดูดการลงทุน การเข้ามาทำการทดสอบที่นี่ร่วมกันแบบเปิด เขาจะได้ประโยชน์ในแง่การแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านอาจารย์ที่เป็นนักวิจัยมีโอกาสทำงานร่วมกับเจ้าของเทคโนโลยี และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ก็เปิดกว้างเชิญชวนสถาบันการศึกษาอื่นเข้ามาร่วมทำการทดสอบด้วย โดยแน่นอนแล้วว่า EEC จะเป็นพื้นที่แห่งแรกๆ ของประเทศไทยในการใช้งาน 5G"

นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมสร้างเครือข่ายพันธมิตร 5G (5G alliance) ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถจัดทำ MOU พร้อมทั้งลงนามภายในเดือน ธ.ค.61

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค กล่าวว่า ล่าสุดสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาคลื่นความถี่ย่านที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ในเรื่องของ 5G เบื้องต้นได้เสนอคลื่นความถี่ในย่านหลัก 3 คลื่น ได้แก่ ย่านความถี่ 3.4-3.6 GHz 26-28 GHz และ 7-9 GHz โดยจากนี้จะร่วมมือกันทดสอบคลื่นย่านต่างๆ ว่าส่งสัญญาณรบกวนกับบริการเดิมที่มีอยู่หรือไม่ เช่น สัญญาณดาวเทียมโดยเฉพาะในย่านความถี่ C-Band โดยกำหนดระยะเวลาไว้ราว 6-9 เดือน เพื่อให้ได้คลื่นความถี่ย่านที่เหมาะสมกับการใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ