กนอ.นำเอกชนไทย-เทศ 18 ราย ลงสำรวจพื้นที่โครงการท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะที่ 3 ก่อนยื่นข้อเสนอเทคนิค-ราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 28, 2018 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังนำคณะภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ จำนวน 18 ราย ลงพื้นที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) เพื่อให้เอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาได้เข้าไปสำรวจและศึกษากายภาพของพื้นที่เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการในการจัดทำข้อเสนอทางเทคนิค และราคา ตามเงื่อนไขการยื่นประมูลการร่วมลงทุนตามรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) Net Cost

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว จะพิจารณาบนเงื่อนไขที่รัฐได้ผลตอบแทนสูงสุดทั้งในด้านราคาและเทคนิค เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะสามารถรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันท่าเรือฯมาบตาพุดแห่งนี้ ได้วางแผนที่จะพัฒนาเพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ( LNG) ในช่วงที่ 2 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้และนำเข้าก๊าซ LNG ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการเปิดเสรี LNG ในอนาคต

สำหรับการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 55,400 ล้านบาท แบ่งออกเป็นภาครัฐ 12,900 ล้านบาท และ เอกชน 42,500 ล้านบาท โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง ทั้งในการพัฒนาและการบริหารโครงการ

ทั้งนี้ การพัฒนาช่วงที่1 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 47,900 ล้านบาท โดย กนอ.จะเข้าร่วมลงทุนในมูลค่าไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ เป็นส่วนการลงทุนของภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท โดยจะพัฒนาในส่วนขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี โดยเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าพัฒนาโครงการในช่วงที่ 1 จะได้รับสิทธิในการบริหารและพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารท่าเรือ และเพื่อรองรับการใช้บริการท่าเรือที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับแผนการพัฒนาในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเรือ (Superstructure) จะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท โดยเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนและพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

"ศักยภาพของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีจำนวนเรือที่เข้าใช้บริการในท่าเทียบเรือปริมาณหนาแน่นทั้ง 2 ระยะ ทำให้มีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งของไทยในอนาคต" น.ส.สมจิณณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ