(เพิ่มเติม) สรรพากร โต้ข้อกล่าวหามาตรการช็อปช่วยชาติหนุนนายทุน แจงเป็นการกระตุ้นบริโภคในประเทศ ช่วยเหลือศก.ชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2018 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากกรมสรรพากร ชี้แจงกรณีมีคำวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการช็อปช่วยชาติว่า เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ามากกว่าช่วยประชาชนและควรนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและชาวบ้านระดับรากหญ้ามากกว่านั้นว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ มาตรการช็อปช่วยชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

นอกจากนั้น การกำหนดประเภทสินค้า 3 ประเภทยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง จึงคุ้มค่าที่จะดำเนินการ ดังเห็นได้จากแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อสินค้าแต่ละประเภทซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานได้กำหนดว่า วัตถุดิบต้องมาจากยางที่การยางแห่งประเทศไทยรวบรวมหรือรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยาง จึงจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น

สินค้าประเภทหนังสือและ e-Book เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และเป็นไปตามที่กรมสรรพากรได้เคยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยจะช่วยยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศผ่านการอ่าน

สินค้า OTOP ได้กำหนดให้ซื้อจากผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จึงมิได้จำกัดอยู่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มาตรการช็อปช่วยชาติ ที่จะดำเนินการระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2561 – 15 ม.ค. 2562 จะไม่เหมือนกับมาตรการในปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะมีการกำหนดชนิดสินค้าที่เข้าร่วมได้ 3 รายการ โดยแต่ละชนิดสินค้าที่กำหนดนั้น มีหลักการและเหตุผลแตกต่างกันออกไป แต่อยู่บนพื้นฐานการช่วยเหลือผู้ผลิตที่เป็นคนไทย

กรณียางรถยนต์ ซึ่งรวมถึงยางรถจักรยานยนต์ และยางรถจักรยานด้วยนั้น วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราคายางที่ตกต่ำจากปัญหาสต็อกยางพารา ที่ต้องเร่งระบายออกกว่า 6 พันตัน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตยางในประเทศทั้งสิ้น 28 บริษัท โดยกรมสรรพากรได้มีการคำนวณว่า ยางพารา 1 ตัน สามารถผลิตยางรถยนต์ได้ 80 เส้น

สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนจากการซื้อยางล้อนั้น จะต้องมีใบกำกับภาษีจากผู้ขาย และคูปองที่ติดมากับยางล้อ โดยกรมสรรพากรได้เตรียมคูปองในส่วนนี้ไว้ 2 แสนใบ เพื่อเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์ หรือปลอมแปลงต่าง ๆ โดยในคูปองดังกล่าวจะต้องมีเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ผลิตและบริษัทผู้ขายยางกำกับด้วย และยางล้อจะต้องมีตราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำกับด้วย โดยยาง 1 เส้นต่อคูปอง 1 ใบ

ส่วนการใช้สิทธิจากการซื้อหนังสือ หรือ e-Book โดยไม่รวมหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่านของคนในประเทศ จะต้องมีใบเสร็จจากร้านค้า ส่วนสินค้าโอท็อป เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชน โดยผู้ผลิตจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน โดยผู้ใช้สิทธิสามารถนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่ามาตรการช็อปช่วยชาติ สำหรับสินค้า 3 ประเภทจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ ประมาณ 1.6 พันล้านบาท จากมาตรการในปีก่อนที่สูญเสียรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาท จากผู้ยื่นแบบเพื่อขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย

นายปิ่นสาย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพ ต้องแจ้งความประสงค์เพื่อใช้สิทธิดังกล่าวกับบริษัทประกันในการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2561 ว่า ไม่เป็นความจริง โดยกรมสรรพากรได้กำหนดให้บริษัทประกันสามารถยื่นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของลูกค้าที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพได้ถึงวันที่ 7 ม.ค. 2562 โดยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว กรมสรรพากรจะนำไปใช้ในการคำนวณภาษี เพื่อให้สามารถประมวลผลได้เร็วขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ