ศูนย์กสิกรฯ ประเมินเจรจายุติสงครามการค้าเสี่ยงล่มหวั่นฉุดส่งออกไทยหด 0.6-0.9% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 4, 2018 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลการหารือเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่าสหรัฐกับจีนมีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่จะไม่ประสบความสำเร็จภายใน 90 วัน เนื่องจากเป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้น อีกทั้งการแก้ไขเรื่องการบังคับบริษัทสหรัฐถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้ผลิตจีนและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความซับซ้อนและไม่น่าสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่สหรัฐจะยังคงขึ้นภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มี.ค.62 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการณ์ผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่กรอบเดิม โดยมีมูลค่า 3,100-4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 62 หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.6-0.9% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าผลลัพธ์หลังจากวันที่ 1 มี.ค.562 อาจออกมาได้ 3 กรณี คือ

1. สหรัฐจะยังคงขึ้นภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 25% ในสินค้าจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า หากจีนไม่สามารถทำตามข้อตกลงและเป็นที่น่าพอใจได้ภายใน 90 วัน หากกรณีเกิดขึ้นสงครามการค้ามีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไปในระยะยาวและอาจฉุดรั้งการค้าโลกในอนาคตข้างหน้า

2. สหรัฐไม่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็น 25% แต่ยังคงภาษีนำเข้าที่อัตรา 10% ซึ่งเริ่มเก็บในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากจีนสามารถทำตามที่ตกลงไว้และเป็นที่น่าพอใจ กรณีนี้แม้ผลลัพธ์จะไม่ต่างจากก่อนหน้าการประชุม แต่เป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันมากขึ้น

3. สหรัฐลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 10% เป็นอัตรา Most-favored nation (MFN) ดังเช่นก่อนทรัมป์เริ่มสงครามการค้า กรณีนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น และอาจต้องมีการเจรจาตกลงกันหลายรอบ ซึ่งสหรัฐฯ น่าจะเพิ่มเงื่อนไขในภายหลังสำหรับการลดภาษี ส่งผลให้อาจใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี ในการที่จะกลับไปเก็บภาษีในอัตราเดิม

อย่างไรก็ดี สหรัฐมีแนวโน้มที่จะระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมในมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐตามที่เคยขู่ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลักทุกชนิดที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่จีนมีท่าทีที่จะประนีประนอมและทำตามที่สหรัฐต้องการมากขึ้น อีกทั้งจีนจะมีการประชุม 2 สภาและการแถลงเป้าเศรษฐกิจประจำปีในเดือน มี.ค.ปีหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้จีนเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศและทำตามที่สหรัฐเรียกร้องมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าโลก และส่งผลให้ผลกระทบต่อการส่งออกไทยมีแนวโน้มที่จะจำกัดอยู่ในกรอบล่างที่ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ จากการประชุมนอกรอบการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้ตกลงระงับการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของแต่ละฝ่ายเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจากการประชุมเพื่อเปิดทางสู่การเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้า โดยนายทรัมป์ตกลงที่จะเลื่อนการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 ม.ค.62 นี้ออกไปอีก 60 วัน เป็นวันที่ 1 มี.ค.62 ขณะที่จีนตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมจำนวนมากจากสหรัฐฯ เพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งทางจีนได้ตกลงจะเริ่มซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ทันที แต่ยังไม่ได้มีการระบุปริมาณการนำเข้าและประเภทสินค้าอย่างแน่ชัดจากการประชุมในครั้งนี้

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศยังให้คำมั่นที่จะเริ่มเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเกี่ยวกับเรื่องการบังคับการส่งผ่านเทคโนโลยี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การบุกรุกและขโมยทางไซเบอร์ ซึ่งทรัมป์ต้องการที่จะขจัดการส่งผ่านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่เป็นธรรมจากสหรัฐไปจีน

การตกลงครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกันมากขึ้นและอาจมีการตกลงที่จะยุติสงครามการค้าในอนาคต ซึ่งช่วยคลี่คลายความตึงเครียดของการค้าโลกอย่างน้อยในระยะสั้นและส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ถึงแม้ทั้งสองประเทศตกลงที่จะพยามบรรลุตามข้อตกลงให้ได้ภายใน 90 วันข้างหน้า แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทางจีนจะสามารถทำตามข้อตกลงได้ทั้งหมดหรือไม่ และสหรัฐฯ จะเข้มงวดกับเงื่อนไขต่างๆ มากน้อยเพียงใด ดังนั้นสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ