สภาผู้ส่งออกฯ คาดปี 62 ส่งออกโต 5% จากปีนี้คงเป้าโต 8% แนะรัฐดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ-ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 4, 2018 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 บาท/ดอลลาร์ บวก/ลบ 0.5 บาท/ดอลลาร์ ส่วนปี 62 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวที่ระดับ 5%

สำหรับปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออกในปีนี้ ได้แก่ 1.โอกาสการส่งออกสินค้าผ่านการค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) มีอัตราการเติบโตค่อนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ ทั้ง B2B และ B2C โดยหลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างพัฒนา e Trading Platform ที่สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการในการทำธุรกรรมในรูปแบบดังกล่าวได้ เช่น ข้อมูลของ UNCTAD ในปี 60 ระบุว่า ประเทศที่เป็นสมาชิก UNCTAD มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของยอดขาย e-Commerce แบบ B2B มีมูลค่าอยู่ที่ 22 ล้านล้านดอลลาร์ และแบบ B2C มีมูลค่าถึง 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นต้น

และ 2.สหรัฐฯ ยืดระยะเวลาขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็น 25% ออกไปอีก 90 วัน ส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าโลกให้ผ่อนคลายลง

ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ 1.ความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน และสินค้าจากประเทศจีนบางส่วนไหลเข้ามาในแถบเอเชียมากขึ้น ประกอบกับการที่อาเซียนมีข้อตกลงทางการค้า ACFTA ทำให้สินค้าที่ส่งเข้ามามีอัตราการเสียภาษีในระดับที่ต่ำและกลายเป็นคู่แข่งของสินค้าไทย

2.คำมั่นของจีนที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น อาจกระทบสินค้าบางรายการของไทยที่ส่งไปยังประเทศจีน 3.ความผันผวนของราคาน้ำมันส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อประเทศผู้ผลิตและค้าน้ำมัน และอาจมีผลต่อกำลังซื้อ 4.นโยบายการดึงดูดการลงทุนของเวียดนาม ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น และเป็นการเข้ามาแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดของไทย โดยเฉพาะตลาดกลุ่มสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

และ 5.ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์จากการประกาศใช้มาตรการ Low Sulphur Fuel Surcharge (Emission control) ของ IMO โดยกำหนดให้เรือขนส่งสินค้าต้องใช้น้ำมันที่มีค่า Sulfur ไม่เกิน 0.05% ในเขตชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล และค่า Sulfur ไม่เกิน 0.5% ในเขตน่านน้ำสากล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานยังมีไม่เพียงพอ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่ช่วยลดค่าการปล่อยมลพิษขึ้นสู่อากาศ หรือ Scrubber ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน

สรท.มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1.ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ ขณะที่ผู้ส่งออก และ SMEs ต้องพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการมารองรับ

2.นโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยที่สามารถแข่งขันได้ ทั้ง Inbound และ Outbound นอกจากการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันภาครัฐควรส่งเสริมการลงทุนภายนอก (Outbound investment) ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยกระดับขึ้นไปอยู่ใน Global Value Chain ได้มากขึ้น

3.ส่งเสริมการค้าแบบ e-Commerce B2C/B2B Cross Border ให้ครอบคลุม SMEs/Startup โดยประเทศไทย ควรเร่งสร้างแพลตฟอร์มกลางการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศของไทย เพื่อเป็นเกตเวย์ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการอย่างเต็มรูปแบบให้เกิดขึ้นจริง และสามารถเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มต่างประเทศได้

และ 4.ควรมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนในการผลิตพลังงานทดแทนโดยใช้สินค้าเกษตรมาเป็นวัตถุดิบให้มากขึ้น เพื่อพยุงราคาของสินค้าภาคเกษตรกรรมภายในประเทศให้ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ