นายกฯ ย้ำสร้างความเข้มแข็งท้องถิ่นผ่าน"ไทยนิยม ยั่งยืน"หวังแก้ปัญหาครบวงจร พร้อมเดินหน้าลงพื้นที่ต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 8, 2018 07:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนนี้ (7 ธ.ค.) โดยย้ำว่าการสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น ภายใต้หลักการสำคัญการมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่เน้นการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ ทุกระดับ จะเพื่อแก้ไขอย่างครบวงจรทุกมิติในคราเดียวกัน ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง

"อีกส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการจะบอกพี่น้องประชาชนก็คือเสียงสะท้อนจากประชาชน โดยการรับฟังปัญหา และความต้องการของประชาชน ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับการลงพื้นที่ของผม และคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งด้วย โดยเราพยายามจะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องและมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ทำให้ได้รับรายงานประเด็นปัญหาความต้องการของประชาชนมากกว่า 7 แสนรายการ สามารถแบ่งเป็น 6 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด กว่าร้อยละ 52 ด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการเกษตร ด้านความมั่นคง รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการสาธารณสุขด้วย หลังจากนั้นรัฐบาลได้จัดทำเป็นรายละเอียดแผนงานสำคัญ 3 แผนงาน ได้แก่

1.แผนงานเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งก็มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 13 ล้านคน จากการลงทะเบียนที่ผ่านมาที่ครอบคลุมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง โดยดำเนินการใน 4 เรื่อง ได้แก่ การมีงานทำ การฝึกอาชีพ เสริมความรู้ การเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ ก็เป็นที่มาของมาตรการต่าง ๆ อาทิ การช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า สำหรับครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือค่าเดินทางไปรักษา พยาบาล หรือค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพและค่าเช่าบ้าน สำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น

สำหรับการแก้ไขปัญหา "หนี้นอกระบบ" นั้น รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในหลายกรณีที่ได้เข้าไปช่วยแก้ไข ก็อาจจะเป็นเรื่องการแก้ที่ปลายเหตุ ได้แก่ การเข้าไปประนีประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ แต่อีกแนวทางหนึ่งที่พยายามแก้ไข และเน้นให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ในการกู้ยืมเงินทุนของพี่น้องประชาชน ก็คือการนำธุรกรรมหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ เพื่อให้เป็นการให้กู้ยืมที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย ซึ่งจะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชนไปด้วย ในเวลาเดียวกันทำให้กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือที่เรียกว่า สินเชื่อ พิโก ไฟแนนซ์ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ได้ ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี และจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ในการให้บริการสินเชื่อ พิโก ไฟแนนซ์ ผู้ที่จะให้สินเชื่อ หรือเจ้าหนี้ จะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท และได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้การปล่อยกู้นั้นถูกกฎหมาย สามารถให้กู้กับลูกหนี้ที่เป็นคนในพื้นที่ ซึ่งก็คงจะเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้ว ช่วยให้สามารถประเมินความเสี่ยง รู้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ได้ นอกจากนี้ ผู้ให้กู้ คือเจ้าหนี้ ก็สามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไป ในขณะที่ลูกหนี้ จะสามารถกู้ยืมในระบบได้ง่ายขึ้น มีความโปร่งใส เป็นธรรม โดยสามารถกู้ยืมไปใช้อุปโภค บริโภค หรือฉุกเฉินจำเป็น ในแต่ละรายจะสามารถกู้ยืมได้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท และอาจมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ แล้วแต่เจ้าหนี้จะกำหนด หรือใช้บุคคลเป็นผู้ค้ำประกันก็ได้

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่คิด แม้จะสูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไป แต่ก็จะไม่สูงไปกว่าการออกไปกู้นอกระบบ รวมถึง การกู้ยืมก็ทำได้ง่ายกว่า และยังเป็นแบบลดต้น ลดดอก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาในเรื่องที่ผ่อนใช้ไปนาน ๆ แล้วต้นไม่เคยลดลง จนทำให้ต้องเป็นภาระที่พอกพูน ไม่มีวันจบสิ้นได้ด้วย

2. แผนงานปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพเป็นรายบุคคล และรายกลุ่มซึ่งจัดทำเป็นเมนูทางเลือกให้เกษตรกรตามความเหมาะสม และความสมัครใจ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ รวม 4.3 ล้านคน แบ่งออกเป็น 4 โครงการสำคัญ ได้แก่การบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน การปศุสัตว์ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ มีโครงการตัวอย่าง ได้แก่ โครงการเลี้ยงผึ้งโพรงเป็นอาชีพเสริมของชุมชนตำบลฉลุง จังหวัดสตูล ช่วยสร้างรายได้ 665,000 บาทต่อปี โดยสามารถขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอได้ในอนาคต โครงการผลิตสารชีวภัณฑ์ของชุมชน 4 บ้านแก่ง จังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วยสร้างลดต้นทุนการจัดการศัตรูพืชจาก 4,000 บาทต่อไร่ เหลือ 3,000 บาทต่อไร่ โครงการจ้างงานชลประทานสำหรับซ่อมแซม บำรุง รักษาระบบชลประทาน 140 รายการ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16,000 บาทต่อราย และ โครงสร้างสร้างฝายชะลอน้ำ 1,300 กว่าแห่งทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่ ส.ป.ก. ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นต้น

3. แผนงานส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน หรือ หมู่บ้านชุมชนละสองแสนบาท โดยคณะกรรมการหมู่บ้านจะนำปัญหาความต้องการจากเวทีประชาคมมาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ และต่อยอดในโครงการด้านต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นมากกว่า 92,000 โครงการ ส่วนใหญ่ก็คงเป็นเรื่องระบบสาธารณูปโภค ร้อยละ 72 รองลงมาเป็นเรื่องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ร้อยละ 16

(2) โครงการด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งนอกจากให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP มากกว่า 32,000 ผลิตภัณฑ์ทั้งอาหาร ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายสมุนไพร และเครื่องดื่มแล้ว ยังมีการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการนักท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวแต่ละท้องถิ่น และการส่งเสริมการตลาดชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งได้รับรายงานว่า ช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในชุมชน เกือบ 1 ล้านคน ดึงเม็ดเงินเข้าชุมชน 900 ล้านบาท

(3) โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชา ตามแนวทางประชารัฐ ดำเนินการโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพและการยกระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้นกองทุนละไม่เกิน 3 แสนบาท ได้รับอนุมัติโครงการไปแล้ว 47,000 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 71 ของเป้าหมาย ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการจัดงานประเพณีต่าง ๆ ร้อยละ 37 นอกจากนั้น เป็นการสร้างร้านค้าชุมชน น้ำดื่มชุมชน กองทุนปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์พืช ลานตากพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ ผมก็หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าแผนงาน โครงการ ทั้งหลายตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ดังกล่าว นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ที่เป็นฐานรากของบ้านเมืองแล้ว ยังจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว ไม่เป็นภาระ แต่ก็เป็นพลังส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ