ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน พ.ย.61 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากคลายกังวลราคาน้ำมัน-มาตรการรัฐหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2018 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนพ.ย.61 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 45.7 จากเดิมที่ระดับ 45.3 ในเดือนต.ค.61 เนื่องจากครัวเรือนไทยทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดมีความกังวลลดลงต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ (ทั้งน้ำมันเบนซิน ก๊าซโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ยกเว้นก๊าซ NGV) ที่ปรับตัวลดลงมากถึง 6 ครั้งตลอดช่วงเดือนพ.ย.61 ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.61 ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับราคา 80-85 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการภาครัฐที่ทยอยออกมาในช่วงเดือนพ.ย.61 แม้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ภายในเดือนเดียวกัน แต่ก็มีส่วนช่วยลดทอนความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพได้บ้าง ทั้งในส่วนของมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ขณะเดียวกัน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 47.4 ในการสำรวจช่วงเดือนพ.ย.61 ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์ต่อเนื่องมาจากมุมมองของครัวเรือนในปัจจุบันที่ลดความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อรายได้และการจ้างงานในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือนธ.ค.61 – เดือนก.พ.62) ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเป็นช่วงฤดูกาลปรับขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนประจำปี ประกอบกับครัวเรือนบางส่วน (ผู้มีรายได้น้อย) จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากรัฐบาล คนละ 500 บาทในเดือนธ.ค.61 อย่างไรก็ดี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่ผู้มีรายได้น้อยได้รับนั้นจะได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งยังคงต้องติดตามภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนถัดไปเมื่อผลดังกล่าวสิ้นสุดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อมองไปในปี 2562 ยังต้องติดตามหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับภาพรวมราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ซึ่งจะยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย ไม่ว่าจะเป็น 1. การบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils)

2. การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) อีก 4.30 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนม.ค.-เม.ย.62 ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย (ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายจริงไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจาก 3.5966 บาท เป็น 3.6396 บาท

3. ข่าวการปรับขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางและรถแท๊กซี่ในปี 2562 โดยสถานะล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเคาะค่าโดยสารอัตราใหม่ ซึ่งยังต้องติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในเดือนสุดท้ายของปี 2561 จะยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ (สนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี คนละ 500 บาท) ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูกาลของการปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างของแต่ละองค์กร แต่ยังต้องติดตามเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือไปบ้างแล้ว ส่วนในช่วงต้นปี 2562 ยังต้องติดตามในประเด็นเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ