(เพิ่มเติม) สมาคมฯ เผยผลผลิตกุ้งปีนี้ 2.9 แสนตัน ลดลง 3% จากสภาพอากาศ-โรคกุ้ง-ราคาต่ำ ส่วนปี 62 คาด 3.1-3.2 แสนตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 13, 2018 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2561 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2561 โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 290,000 ตัน ลดลง 3% จากปี 2560 (เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง 33% ภาคใต้ตอนบน 29% ภาคตะวันออก 24% และภาคกลาง 14% ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน ถือว่าผลิตได้ลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้เป็นผลมาจากสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาโรค และราคากุ้งที่ไม่จูงใจ หรือราคาต่ำ ขณะที่คาดว่าปี 2562 จะผลิตกุ้งได้ 310,000 - 320,000 ตัน

ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกปี 61 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% ถือเป็นปีที่หลายประเทศ เช่น เอกวาดอร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ ผลิตกุ้งได้เพิ่มมากขึ้น อินเดียครึ่งปีแรกผลผลิตทะลักออกมามาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากุ้งในประเทศ และความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลก

ส่วนปี 62 คาดว่าผลผลิตทั่วโลกน่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตบางประเทศเจอปัญหาโรคระบาดและยังไม่มีแผนการแก้ไข ส่วนสถานการณ์ราคาขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงหากประเทศคู่แข่งซึ่งเจอปัญหาโรคระบาดอาจจะทำให้การผลิตชะงัก ราคากุ้งก็อาจจะปรับตัวขึ้นได้มาก

ส่วนข้อมูลการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้ มีปริมาณ 143,129 ตัน มูลค่า 45,545 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ที่ส่งออกในปริมาณ 167,418 ตัน มูลค่า 56,105 ล้านบาท ปริมาณลดลง 14.51% และมูลค่าลดลง 18.82%

"ปีนี้การส่งออกกุ้งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะอุตสาหกรรมกุ้งของไทยอาศัยการส่งออก 85-90% การเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผลต่อราคาซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตกุ้งป้อนตลาดโลก อย่างกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งประเทศไทยต้องเกาะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีทั้งส่งผลดีและไม่ดี, ตลาดยุโรป ซึ่งขณะนี้เกิดวิกฤตการณ์ที่ฝรั่งเศสมีการประท้วงการขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสพยายามแก้ปัญหาอยู่แต่ไปๆมาๆยิ่งแก้ยิ่งลามส่งผลกระทบไปถึงประเทศข้างเคียง ทั้งเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะลุกลามบานปลายไปขนาดไหน และประเทศเหล่านี้บริโภคกุ้งไทยพอสมควร"นายสมศักดิ์ กล่าว

สำหรับปัญหา Brexit ของอังกฤษ นายสมศักดิ์ มองว่า ถ้าอังกฤษออกจาก EU การค้าขายระหว่างเรากับอังกฤษจะคล่องตัวกว่า กฎเกณฑ์ต่างๆ จะเบากว่า

"สำหรับอุตสาหกรรมกุ้ง ถ้ายุโรปไม่รวมตัวกัน เจรจาการค้าเป็นรายประเทศคุยง่ายกว่า ไม่มีเรื่อง GSP มากดดัน ไม่มีเรื่องการเลือกปฏิบัติในการให้ภาษีนำเข้าที่ถูกกว่า"นายสมศักดิ์ กล่าว

ส่วนการส่งออกกุ้งทั้งปีของปี 61 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 180,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาท และปี 62 คาดว่าจะส่งออกกุ้งประมาณ 200,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 60,000 ล้านบาท

ด้าน ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกุ้งไทย และนายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวว่า ถึงแม้อุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องเจอปัจจัยลบหลายประการ แต่ด้วยศักยภาพของอุตสาหกรรมกุ้งไทยที่ถึงแม้มีพื้นที่น้อยกว่า ประสิทธิภาพการเลี้ยงที่มีมากกว่าคู่แข่ง การคมนาคมและระบบไฟฟ้าที่เอื้อให้ผลิตสินค้าคุณภาพสูงได้ง่ายกว่า รวมถึงการขยายตัวของตลาดภายในและตลาดพิเศษมูลค่าสูงอย่างจีน ทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยยังคงยืนหยัดอยู่ได้

"อุตสาหกรรมกุ้งไทยในปีนี้อาจจะดูสถานการณ์ไม่ค่อยดี แต่ยังมีโอกาสที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยจะพลิกฟื้นกลับมาได้ โดยเฉพาะจากผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้ประเทศจีนย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศมากขึ้น ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่จีนให้ความสนใจ เพราะระบบต่างๆ มีความพร้อม และเอื้ออำนวยต่อการลงทุน" ท.พ.สุรพลกล่าว

พร้อมระบุว่า อุตสาหกรรมกุ้งจะต้องมีการปรับตัว ภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเน้นเลี้ยงกุ้งคุณภาพแทนตั้งเป้าปริมาณผลผลิต เลี้ยงไซส์ใหญ่เพื่อทำราคา เพราะเราไม่สามารถแข่งขันเรื่องต้นทุนกับกุ้งไซส์เล็กของประเทศคู่แข่งได้ ด้วยศักยภาพของลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก จากสายพันธุ์ที่โตเร็ว แข็งแรง ปลอดโรค ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะผลิตกุ้งไซส์ใหญ่

นอกจากนี้ ต้องไม่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีต้องห้ามในการเลี้ยงเป็นอันขาด เพราะนี่คือจุดแข็งของกุ้งไทยที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง และเป็นที่ยอมรับจากผู้นำเข้าและผู้บริโภค ที่ผ่านมาสินค้ากุ้งไทยไม่เคยถูกตรวจพบและถูกตีกลับจากปัญหาเหล่านี้

ท.พ.สุรพล กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยยังอยู่ได้แม้จะมีปัจจัยลบมากมาย หรือเสียเปรียบประเทศอื่นมากมาย แต่คงไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตแล้ว ที่ผ่านมาเคยเป็นเบอร์ 1 ถึง 25 ปีแต่ตอนนี้เป็นอันดับ 5 ในแง่ปริมาณ แต่ขอเป็นอันดับ 1 ในด้านคุณภาพ เราต้องปรับตัวเองขนานใหญ่ ผู้เลี้ยงกุ้งต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อการแข่งขันและเพื่อให้อยู่รอด เนื่องจากประเทศคู่แข่งมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าไทย เราต้องปรับปรุงคุณภาพการผลิตกุ้งให้ได้ทั้งขนาดที่โตกว่าเดิมเหนือกว่าประเทศอื่นๆ เพราะเราไม่สามารถแข่งขันในเชิงปริมาณได้

"เราต้องมุ่งเน้นทำตลาดสินค้าระดับสูงที่ต้องการสินค้าคุณภาพ ที่สำคัญภาครัฐต้องมาช่วยทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ให้ชาวโลกรับรู้ถึงภาพลักษณ์ที่ดีของกุ้งไทย "กุ้งไทยดีที่สุดในโลก" ที่มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม เป็นอาหารปลอดภัย ดีที่สุดเมื่อเทียบกับที่อื่น รวมถึงการให้โอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมสภาพคล่องให้กับภาคการผลิต ภาคการส่งออก และส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เป็นต้น" ท.พ.สุรพล กล่าว

ด้านนายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า ผลผลิตปี 2561 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 95,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 2% จากปัญหาจากภาวะราคากุ้งผันผวนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งฝั่งอันดามันปรับตัวไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น

นายสมชาย ฤกษ์โภคี เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนบนในภาพรวมไม่ค่อยดีมากนัก มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผลผลิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากภูมิอากาศของประเทศทั่วทุกภาคมีฝนตกเกือบตลอดปี อากาศแปรปรวนตลอดเวลาทำให้การเลี้ยงค่อนข้างยาก โรคไวรัสตัวแดงดวงขาว และขี้ขาวยังคงรุมเร้าทุกพื้นที่การเลี้ยง ผลผลิตรวมของภาคใต้ตอนบนอยู่ที่ประมาณ 84,000 ตัน มากที่สุดคือจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 40,000 ตัน

น.ส.พัชรินทร์ จินดาพรรณ กรรมการสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวว่า ปี 2561 ประมาณการผลผลิตกุ้งภาคตะวันออกประมาณ 71,000 ตัน ลดลง 11% จากปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดความเสียหายจากโรคระบาด รวมถึงเกิดวิกฤตราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรหยุดหรือชะลอการเลี้ยง รวมทั้งมีการลดพื้นที่เลี้ยง ลดความหนาแน่นในการปล่อย ขณะที่การเลี้ยงกุ้งภาคกลางคาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 40,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 6% จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ และมาตรา 9 ทำให้เกษตรกรบางรายต้องเลิกเลี้ยง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ