คปพ.เตรียมยื่นหนังสือนายกฯ ยกเลิกประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ มองขัดกม.-ผลประโยชน์ตกกลุ่มผถห.PTT

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 14, 2018 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช และเอราวัณที่กำลังจะหมดอายุในปี 65-66 หลังเมื่อวานนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติให้กลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. ในกลุ่มของ บมจ.ปตท. (PTT) เป็นผู้ชนะประมูลทั้งสองแหล่ง เนื่องจาก คปพ.เห็นว่าผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดน่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ปตท. รวมถึงผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกของ ปตท. ซึ่งไม่ใช่รัฐและประชาชน เพราะโครงสร้างการประมูลครั้งนี้รัฐต้องขายก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมในราคาต่ำให้กับ PTT ซึ่งเป็นผู้รับซื้อก๊าซฯ ขณะที่ผู้บริโภคยังต้องใช้ราคาก๊าซฯที่ราคาอ้างอิงเสมือนการนำเข้า

ทั้งนี้ คปพ.ทำหนังสือเรื่องขอให้ยกเลิกการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มิชอบและจัดการประมูลขึ้นใหม่ โดยระบุว่าตามที่ ครม.วานนี้อนุมัติให้กลุ่ม ปตท.สผ. ชนะการประมูลสิทธิสำรวจและผลิตในทั้งแปลง G1/2561 (เอราวัณ) และ G2/2562 (บงกช) นั้น คปพ.เห็นว่ากระบวนการประมูลดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญและสมควรจะทำการยกเลิกพร้อมทั้งจัดประมูลใหม่ในเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศมากกว่า ด้วยเหตุผลดังนี้

1. จำนวนผู้เข้าประมูลและคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลมิได้ทำให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะโดยปกติตามกติกาสากล จำนวนผู้เข้าประมูลที่จะเอื้อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ จะต้องมีจำนวนผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนแปลงอย่างน้อย 1 ราย กรณีนี้จึงสมควรมีผู้เข้าประมูลอย่างน้อย 3 ราย แต่ปรากฏว่าสืบเนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขที่บีบแคบ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่บริษัทผู้ประมูลต้องมีมูลค่าการถือครองหุ้นในกิจการ (Shareholder’s Equity) อย่างน้อย 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแปลงเอราวัณ และอย่างน้อย 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแปลงบงกช ทำให้มีผลเป็นการกีดกันมิให้รายอื่นสามารถเข้ามาแข่งขันได้

ดังนั้น คปพ. จึงเห็นว่า จำนวนผู้เข้าประมูลที่เกิดขึ้นมิได้ทำให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด จึงเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 164 (1) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

2. หลักเกณฑ์การพิจารณามองว่าเป็นการนำผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมไปให้เป็นประโยชน์แก่เอกชน เนื่องจากในทางปฏิบัติ ปตท.เป็นผู้เดียวที่จะใช้สิทธิในการรับซื้อก๊าซ ทั้งแปลงเอราวัณ และบงกช และก๊าซฯที่จะรับซื้อนั้น แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่จำหน่ายต่อไปให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และส่วนที่ปตท.ใช้ในการประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติของตนเอง

คปพ. เห็นว่าหลักการพิจารณาโดยให้น้ำหนักแก่ราคาเสนอขายก๊าซฯในราคาต่ำที่สุด(ค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติ) ร้อยละ 65 แต่ให้น้ำหนักแก่ส่วนแบ่งปิโตรเลียมระหว่างเอกชนและรัฐ ร้อยละ 25 นั้น มีผลโดยอัตโนมัติเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ ปตท. ในก๊าซส่วนที่ ปตท. ใช้ในการประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อกำไรของตนเอง เพราะเงื่อนไขนี้ทำให้ ปตท.มีต้นทุนสำหรับธุรกิจของตนเองที่ต่ำลงด้วย ซึ่งย่อมเพิ่มพูนกำไรของบริษัท อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเอกชนในบริษัทดังกล่าว รวมไปถึงผู้ถือหุ้นต่างประเทศ

นอกจากนี้เนื่องจากก๊าซส่วนใหญ่ที่ ปตท.ซื้อนั้น จะเป็นก๊าซส่วนแบ่งของรัฐ ดังนั้น คปพ.จึงเห็นว่าหลักเกณฑ์นี้มีผลเป็นการทำให้ประชาชนทั้งมวลเสียประโยชน์ จากการที่รัฐมิได้ขายก๊าซให้แก่ ปตท.ในส่วนที่ใช้เพื่อประกอบการทำธุรกิจของบริษัทเอง ในราคาสูงสุดตามราคาตลาด ดังนั้น คปพ. จึงเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการยักยอกผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมไปให้เป็นประโยชน์แก่เอกชน ฝ่าฝืนมาตรา 352 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

สำหรับก๊าซในส่วนที่ ปตท.จะจำหน่ายต่อไปให้แก่ กฟผ. ที่อ้างว่าหลักเกณฑ์ที่ทำให้ราคาก๊าซต่ำ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 29 สตางค์ต่อหน่วยนั้น คปพ.เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่เฟ้อเกินความเป็นจริง เพราะกรณีถ้าหากรัฐบาลจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่รับซื้อก๊าซ บรรษัทฯ ก็จะสามารถขายก๊าซดังกล่าวให้แก่กฟผ.ในราคาทุนของรัฐ และเนื่องจากเป็นการส่งผ่านประโยชน์จากรัฐไปให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านมือ ปตท.ในฐานะคนกลาง การมีบรรษัทจึงย่อมจะส่งผ่านประโยชน์ไปให้แก่กิจกรรมผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่มากกว่า และย่อมจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 29 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าข้อเสนอของกลุ่มบริษัท ปตท.สผ.

3. การที่รัฐไม่ใช้สิทธิในการร่วมถือหุ้น 25% เป็นการผิดกฎหมาย เพราะตามที่เอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 4.4.10 การให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุน (State Participation) ระบุว่า "กระทรวงพลังงานสงวนสิทธิที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต(State Participation) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกินร้อยละ 25 ภายใต้หลักการการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้ขอสิทธิต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 25" นั้น สิทธิการลงทุนดังกล่าวนับเป็นทรัพยสิทธิที่มีมูลค่าตีราคาเป็นเงินได้ และเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทยที่ไม่อาจสละทิ้ง และไม่อาจยกประโยชน์ไปให้แก่ผู้อื่นใดที่มิใช่ประชาชนโดยรวม แต่ครม.กลับเห็นว่าบริษัทที่ชนะการประมูลเข้าเงื่อนไขการเข้าร่วมลงทุนโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้วนั้น เห็นว่าเป็นการปะปนสิทธิของรัฐบาลไทยกับสิทธิของกลุ่มบริษัท ปตท.สผ.และอาจจะเข้าข่ายเป็นการบิดเบือนเพื่อทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไทยใช้สิทธิให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 25 หรือไม่นั้น มีผลแตกต่างกันเป็นการสำคัญ ดังนั้น การที่รัฐไม่เข้าร่วมถือหุ้นร้อยละ 25% โดยอ้างว่าเนื่องจากผู้ชนะประมูลทั้งสองแปลงถือเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว เป็นการสำคัญผิดเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ของรัฐในสาระสำคัญ และเป็นการทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะปกครอง หรือรักษาไว้ เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 258 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และทำให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นมติที่มิชอบด้วยกฎหมาย

4. การประมูลขายก๊าซราคาต่ำสุดครั้งนี้ ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับผู้ถือหุ้น ปตท. และบริษัทในเครือ ไม่ใช่รัฐและไม่ใช่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการแถลงข่าวว่าการประมูลครั้งนี้บริษัทลูกของ ปตท.สผ. ได้กดราคาขายก๊าซที่ปากหลุมในราคาต่ำที่สุดนั้น อาจทำให้ประชาชนหลงประเด็นและเข้าใจว่าจะเป็นผลทำให้ประชาชนได้ใช้ราคาก๊าซราคาถูกลง แต่ในความเป็นจริงแล้วการขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะต้องขนส่งผ่านท่อก๊าซธรรมชาติสายประธานมายังชายฝั่งเท่านั้น เมื่อ ปตท. ยังไม่ได้คืนท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลให้แก่รัฐ การขายก๊าซในราคาต่ำ ๆ นั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์นั้นในการซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาต่ำก็คือ ปตท.แต่เพียง ผู้เดียว ที่จะได้กำไรมากขึ้นจากต้นทุนที่ต่ำลง ไม่ใช่รัฐหรือประชาชน

ในทางตรงกันข้ามการขายก๊าซธรรมชาติผ่านโรงแยกก๊าซ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งคือก๊าซหุงต้มในครัวเรือน อีกส่วนหนึ่งส่วนคือใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่วนที่หนึ่งใช้ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลกำหนดโครงสร้างราคาเสมือนการนำเข้าจากประเทศซาอุดิอาราเบีย บวกด้วยค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ซึ่งไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการรับซื้อก๊าซของ ปตท. ดังนั้น ประชาชนก็ยังต้องจ่ายก๊าซในราคาที่แพงและไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ส่วนที่สองซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกของ ปตท. อันจะทำให้บริษัทลูกของ ปตท. เหล่านั้นมีต้นทุนที่ต่ำลงไปอีก ดังนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์ก็จะยังวนเวียนอยู่ในบริษัทในกลุ่ม ปตท.เช่นเดิม

ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างการประมูลเช่นนี้จึงไม่ใช่รัฐที่ต้องขายก๊าซที่ปากหลุมในราคาต่ำ ๆ ให้กับ ปตท. ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ยังต้องใช้ราคาก๊าซที่ราคาอ้างอิงเสมือนการนำเข้าจากประเทศซาอุดิอาราเบีย บวกด้วยค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย ทั้ง ๆ ที่สัดส่วนในการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศไม่ถึงร้อยละ 10 ดังนั้น ผู้ที่ได้ผลประโยชน์สูงสุดก็คือ ผู้ถือหุ้น ปตท. รวมถึงผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกของ ปตท. ไม่ใช่รัฐและประชาชนแต่ประการใด

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้นอกจากจะไม่ได้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงแล้ว ประโยชน์ที่ได้ก็กลับตกอยู่กับเพียงแค่ผู้ถือหุ้น ปตท. และบริษัทในเครือ ดังนั้น ผลประโยชน์สูงสุดจึงไม่อาจตกแก่ทั้งรัฐและประชาชน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียกเลิกการประมูลในครั้งนี้ แล้วทำการเปิดประมูลใหม่ให้เกิดความโปร่งใส เกิดการแข่งขันอย่างกว้างขวางและเป็นธรรม ตลอดจนประมูลใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในการแข่งขันปริมาณปิโตรเลียมที่ให้แก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์การตัดสินใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ