KTB คาดกนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเป็น 2% ใน H2/62

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 19, 2018 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง เป็น 2% ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ภายหลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมกนง.ในวันนี้เป็น 1.75% ซึ่งเป็นการปรับดอกเบี้ยครั้งแรก หลังจากใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2558

การประชุม กนง. ครั้งนี้ (19 ธ.ค.) คณะกรรมการกนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% เป็นการขยับดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ตั้งแต่เมษายน 2558 และเป็นไปตามที่ กนง.ได้ส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ถึงแนวโน้มการปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะ และการประชุม กนง.ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีข้อความเพิ่มจากคณะกรรมการกนง. ดังนี้ " แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยความจำเป็นลง"

"ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนรับทราบถึงแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยขึ้น เพื่อเตรียมตัว ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ของสหรัฐฯ ในปี 2558-2559 ที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณล่วงหน้าค่อนข้างนานก่อนจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากคงอัตราดอกเบี้ยต่ำมาตั้งแต่ปี 2551" นายพชรพจน์ระบุ

Krungthai Macro Research คาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2% ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ซึ่งจะทิ้งช่วงนานจากการปรับขึ้นครั้งนี้ และถือว่าค่อนข้างน้อย เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เติบโต 4.1% ลดลงเล็กน้อยจากปีนี้ที่คาดว่าจะโต 4.3% ไม่ได้เป็นการเติบโตร้อนแรง ประกอบกับมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นการชะลอตัวแล้วตั้งแต่ปลายปีนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงเพิ่มอีกในช่วงต้นปี 2562 จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจทวีความเข้มข้นขึ้น โดยอัตราภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจเพิ่มเป็น 25% ในเดือนมีนาคม 2562 จากเดิม 10% ที่เริ่มเก็บตั้งแต่ 24 กันยายนที่ผ่านมา หากการเจรจาของทั้งสองประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันนี้ ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องยากที่จะตกลงกันได้ถึงขั้นที่จะขจัดความเสี่ยงสงครามการค้า หรือความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีในอนาคตออกไป

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลงต่ำกว่า 1% อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่ง Krungthai Macro Research คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะอยู่ที่ระดับ 1.1% เท่านั้น ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำเกินไป สะท้อนรายได้ของภาคธุรกิจและรายได้ของแรงงานไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อภายในประเทศ

นายพชรพจน์ กล่าวต่อว่า ในปี 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการบังคับใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพ หรือ Macroprudential Policy ได้แก่ คุมการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ (LTV limit) ในเดือนเมษายน 2562 ส่งผลให้ผู้กู้ต้องวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นตามราคาอสังหาฯ หรือหากยังมีภาระผ่อนอสังหาฯ ค้างอยู่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความต้องการซื้ออสังหาฯ รวมถึงการเปิดโครงการอสังหาฯ ใหม่ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ คาดว่า ธปท.อาจมีมาตรการดูแลเสถียรภาพด้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีก โดยมาตรการเหล่านี้ เสมือนเป็นการเข้มงวดนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว หาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนของมาตรการดังกล่าว อาจเป็นการเข้มงวดนโยบายการเงินมากเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ