SCB EIC คาด กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง เร็วสุด มี.ค.62

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 20, 2018 09:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีหน้า และอย่างเร็วที่สุดคือในรอบการประชุมเดือนมีนาคม โดยรอพิจารณาผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ (data dependent) แม้แถลงการณ์ผลการประชุม กนง.รอบนี้จะไม่ได้ส่งสัญญานหรือให้มุมมองต่อแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปที่ชัดเจนมากขึ้น โดย กนง.ส่งสัญญานว่ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ได้รับผลจากราคาน้ำมันที่ต่ำลงมากในช่วงที่ผ่านมา

"คณะกรรมการฯ น่าจะรอดูตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจที่จะออกในเดือนมีนาคม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวต่อไปได้ต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 จะสามารถอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ นอกจากนี้คุณภาพสินเชื่อเพื่อการบริโภค และสินเชื่อ SME ที่โน้มแย่ลงในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ กนง.ต้องรอประเมินหลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จึงเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยที่ประชุม กนง.เมื่อวานนี้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% จาก 1.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่มองว่าความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาลดน้อยลง จึงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน สร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศปรับสูงขึ้นและอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงควรรอประเมินความชัดเจนของผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปได้ดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในบางจุดไปบ้างแล้ว

SCB EIC ระบุว่า การที่ กนง.ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้น 0.25% ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางแก่เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่ออุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจน่าไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะช่วยลดการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินควบคู่กับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินไป

"การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปตามที่ตลาดคาด ส่วนอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินน่าจะปรับขึ้นตามอย่างช้า ๆ และในขนาดที่น้อยกว่าการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ ตลาดได้คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ไว้บ้างแล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นไปก่อนแล้ว ตลาดการเงินจึงไม่ได้ตอบสนองมากนัก และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะ 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 25 bps ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนหุ้นกู้ไทยระดับ A ขึ้นไป กับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (corporate spread) ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นแม้ในระยะที่ผ่านมา กนง.จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่ต้นทุนการระดมทุนก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วบางส่วน โดยภายหลังการประชุม กนง.พบว่าผลกระทบต่อตลาดเงินโดยรวมยังมีไม่มาก กล่าวคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปิดตลาด ณ วันที่ 19 ธ.ค.61 ปรับตัวลดลง 18 จุด เทียบกับวันก่อนหน้า ขณะที่ค่าเงินบาททรงตัวที่ 32.7 บาท/ดอลลาร์ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปี ทรงตัวอยู่ที่ 1.77% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับลดลง 2 bps มาอยู่ที่ 2.61%

โดยในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบประจำและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัดส่วนที่มากกว่าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ โดยหากดูที่วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากไม่ได้ถูกปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุกครั้ง โดยหลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นครั้งแรก อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบประจำ (time deposits) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ (MLR) และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับขึ้นก่อนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบออมทรัพย์ (saving deposits) โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบประจำถูกปรับขึ้นตามในสัดส่วนที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่น

SCB EIC ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอาจเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจไทยที่ระดมทุนผ่านหุ้นกู้ คือ อาจทำให้ต้นทุนการต่ออายุหุ้นกู้สูงขึ้น แต่ความเสี่ยงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วยังคงต่ำ โดยจากข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทยเดือน ส.ค.61 พบว่า มูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในระหว่างปี 2562-2564 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยมีสัดส่วนสูงถึงกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ระยะยาวทั้งหมดในตลาด แต่ด้วยโครงสร้างตลาดตราสารหนี้ไทยที่หุ้นกู้ส่วนใหญ่จ่ายอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบคงที่ ทำให้ในระยะสั้นนี้อัตราดอกเบี้ยอาจยังไม่ปรับสูงขึ้นในทันที

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้ (roll-over risk) ในระยะต่อไป สำหรับความเสี่ยงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งรัฐบาลและเอกชนจะปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (yield snapback) นั้นอาจมีไม่สูงนัก เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินยังมีสูง และธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ