ธปท.เชื่อแบงก์พาณิชย์ไม่คิดเก็บค่าบริการผ่านเคาน์เตอร์ เผยศึกษาความเหมาะสมค่าธรรมเนียม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 25, 2018 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่าธนาคารพาณิชย์เตรียมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านการให้บริการหน้าเคาน์เตอร์ว่า คาดว่าเป็นความเข้าใจผิดกันมากกว่า ทั้งนี้ จากแนวคิดที่ว่าต้นทุนในการให้บริการทางการเงินควรจะสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงเพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนในพฤติกรรมการใช้บริการนั้น สำหรับประชาชนแล้วขอให้วางใจได้ว่าจะไม่มีการเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นจากประชาชนแน่นอน เพราะหากจะมีการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว คงจะต้องมีการหารือร่วมกับระหว่าง ธปท.กับสมาคมธนาคารไทยก่อน

"หากจะมีจริงคงต้องเริ่มจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ก่อนที่มีธุรกรรมเงินสดค่อนข้างมาก แต่ช่วงนี้ไม่มีแน่ เพราะถ้าจะคิดเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้คงต้องเข้ามาคุยกันก่อน ต้องวางแผนล่วงหน้านาน เรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ จะต้องมองไปถึงเรื่องโครงสร้างที่ต้องสอดคล้องกับต้นทุน และเราได้มีการทบทวนแผนของเรา ซึ่งได้ส่งสัญญาณไปยังธนาคารแล้วว่า ต้นทุนที่เขาคิดกับประชาชนในบางเรื่องไม่เหมาะสม ควรจะปรับลดลงมากกว่านี้ เราพยายามจะสร้างระบบให้มีการแข่งขันกัน เพราะจะเป็นการลดค่าธรรมเนียมได้อย่างยั่งยืนเมื่อมีการแข่งขัน หรือการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เห็นได้ชัดจากค่าธรรมเนียมโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งลดลงจนเหลือศูนย์" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

พร้อมมองว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าที่ผ่านมาแม้ว่าการให้บริการผ่านหน้าเคาน์เตอร์จะยังฟรีสำหรับประชาชน แต่ประชาชนก็เริ่มหันมาใช้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยจะเห็นว่ายอดการใช้บริการผ่านพร้อมเพย์ ผ่านโมบายแบงกิ้งมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับประชาชนเองด้วย เพราะไม่ต้องเสียเวลาหรือเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปที่สาขาธนาคาร ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้บริการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กันให้มากขึ้น

สำหรับการคิดค่าธรรมเนียมที่ ธปท.มองว่าไม่เหมาะสม และธนาคารพาณิชย์ควรพิจารณาปรับให้ลดลงจากปัจจุบัน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมเมื่อลูกค้าขอปิดวงเงิน ค่าธรรมเนียมในการขอย้ายสถาบันการเงิน เป็นต้น เพราะนโยบายสำคัญของ ธปท.คือต้องการส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีทางเลือกในการใช้บริการทางการเงินที่เหมาะสม และตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น ธปท.จึงให้ความสำคัญกับการพิจารณาเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมที่เก็บเกินพอดี

"บางทีเขาก็อาจจะมีเหตุผล หรือความจำเป็นที่ต้องเก็บ Front end fee (ค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อ) เพราะเป็นค่าใช้จ่ายในการประเมินสินเชื่อ หรือหากเขาไปลดอัตราดอกเบี้ยให้มากๆ แทน มันก็ต้องเก็บ แต่ถ้าสินเชื่อบางประเภทไม่ได้เข้าลักษณะแบบนี้ แต่ไปเก็บ Front end fee ก็คงไม่เหมาะสม หรือเวลาที่อยากจะรีไฟแนนซ์ไปที่อื่นก็มีค่าธรรมเนียมเยอะ เช่น ค่าธรรมเนียมในการไถ่ถอนหลักประกัน เพื่อจะดึงให้ลูกค้ายังอยู่กับธนาคารเดิม หรือค่าธรรมเนียมในการปิดวงเงิน อันนี้ถือว่าไม่เหมาะสม เรากำลังศึกษาเรื่องพวกนี้อยู่" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ