ครม.เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางปี 63-65 แจงทำงบขาดดุลต่อเนื่องเพื่อหนุนศก.โตอย่างมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 25, 2018 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563-2565) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณและการก่อหนี้ของหน่วยงานรัฐ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางปี 2563-2565 คาดว่าจะขยายตัวตามศักยภาพในช่วง 3.5 - 4.5% เช่นเดียวกับปี 2562 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกันการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของอุปสงค์ภายในประเทศและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากช่วง 1.5-2.5% ในปี 2564 มาอยู่ในช่วง 2.0-3.0% ในปี 2565

ทั้งนี้ ได้มีการประมาณการสถานะการคลังในช่วงปี 2563-2565 ไว้ดังนี้

ปี 2563 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ 2.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% หนี้สาธารณะคงค้าง 44.4% ต่อจีดีพี

ปี 2564 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ 2.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% หนี้สาธารณะคงค้าง 45.7% ต่อจีดีพี

ปี 2565 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ 2.88 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.47 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% หนี้สาธารณะคงค้าง 47.4% ต่อจีดีพี

สำหรับเป้าหมายนโยบายการคลังนั้น ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และหากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จะสามารถลดขนาดการขาดดุลลงได้ ดังนั้น เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด

ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังในระยะยาวดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะต้องมุ่งบริหารการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และการปรับอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อรายได้รวมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันจะต้องควบคุมการขยายตัวของรายจ่ายในภาพรวม โดยเฉพาะรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนให้สูงขึ้นด้วย โดยนโยบายและมาตรการระยะปานกลางที่สำคัญ คือ

1. กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งรัดกฎหมายที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เช่น การปรับปรุงประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม เป็นต้น รวมถึงศึกษาแนวทางปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลทั้งระบบ ทั้งในส่วนของรายได้ภาษีและรายได้จากทรัพย์สิน ตลอดจนปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ติดตามการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษี และปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และความเหมาะสมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

2. สำนักงบประมาณจะต้องควบคุมรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณควรคำนึงถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน ความคุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงาน และขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

3. รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีการระดมทุนในรูปแบบใหม่สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อช่วยลดภาระการลงทุนจากงบประมาณ เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ