(เพิ่มเติม) พลังงาน เผยเร่งอพยพจนท.ส่วนใหญ่จากแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย คาดพายุ"ปาบึก"ผ่านแท่นบงกชเช้าตรู่พรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 3, 2019 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพลังงาน ออกเอกสารเผยแพร่รายงานความคืบหน้าสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ต่อการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ณ ปัจจุบันมีการอพยพเจ้าหน้าที่แล้ว 2,635 คน และเหลือปฏิบัติหน้าที่อยู่ 246 คน โดยการอพยพของเจ้าหน้าที่แต่ละบริษัทเป็นไปโดยสวัสดิภาพ ขณะที่ปัจจุบันพายุอยู่ห่างจากแท่นบงกชประมาณ 500 กิโลเมตร และคาดว่าจะผ่านแท่นในเวลา 04:00 น. ของวันที่ 4 ม.ค.62

ด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ขณะนี้ยังไม่มีการหยุดผลิตเพิ่มเติม ข้อมูลล่าสุด ก๊าซธรรมชาติลดลงในปริมาณเท่าเดิมที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันจากการหยุดผลิตของแหล่งบงกชเหนือ (แหล่งบงกชใต้ หยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม) และน้ำมันดิบลดลงอยู่ที่ 27,000 บาร์เรล/วัน

อย่างไรก็ตามในส่วนของแหล่งก๊าซธรรมชาติไพลินเหนือสามารถกลับมาผลิตได้อีกครั้งเร็วกว่าแผนหลังจากหยุดซ่อมบำรุง ทำให้มีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้าระบบมากขึ้น รวมถึงในส่วนของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีความพร้อมจ่ายได้สูงสุด 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในวันนี้เรือขนส่ง LNG ได้เข้าเทียบท่าแล้ว ซึ่งจะสามารถส่งก๊าซ LNG เข้าระบบได้ เมื่อรวมกับ Inventory มีปริมาณ 10,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ทั้งนี้เรือลำถัดไปจะเทียบท่าในวันที่ 7 ม.ค. 62) ทำให้ปริมาณสำรอง LNG มีมากเพียงพอในการรองรับสถานการณ์การหยุดผลิตจากพายุ รวมถึงสามารถจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้กับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ได้ตามแผน

ด้านการผลิตไฟฟ้า ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ทั้งในส่วนของสถานีผลิตไฟฟ้าและระบบส่ง และสำรองจากเชื้อเพลิงอื่นเพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ในปริมาณสูงสุด นอกจากนี้ได้มีการประสานกับประเทศมาเลเซียเพื่อขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน และจัดเตรียมอุปกรณ์หนักสำหรับแก้ไขปัญหาหากระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากพายุ

ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมัน สำรองน้ำมันและจัดส่งให้เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุ ในส่วนของก๊าซหุงต้มมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้ของประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้จัดตั้ง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน โดยจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือปตท.สผ. รายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ปตท.สผ.ได้อพยพเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบนแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ บงกชเหนือและใต้ ที่มีอยู่ราว 300-400 คนออกทั้งหมดแล้ว หลังคาดว่าจะเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากพายุ"ปาบึก" ขณะที่ยังคงเหลือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบางส่วนบนแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ แหล่งอาทิตย์ อยู่ราว 10-15 คน โดยแหล่งอาทิตย์เป็นแหล่งผลิตก๊าซฯขนาดใหญ่อีก 1 แหล่งในอ่าวไทย ที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับแหล่งบงกช

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ออกเอกสารเผยแพร่ระบุว่า ได้จัดตั้งทีมจัดการกับสภาวะฉุกเฉินเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้ดำเนินการอพยพพนักงานส่วนใหญ่ขึ้นฝั่ง รวมทั้งเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะและเรือสนับสนุนต่าง ๆ ไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย โดยได้เริ่มดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 ตามขั้นตอนของแผนความปลอดภัยของบริษัท โดยการอพยพพนักงานขึ้นฝั่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ความปลอดภัยของพนักงานเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ขณะนี้พนักงานปฏิบัติงานนอกชายฝั่งทุกคนปลอดภัย และการดำเนินงานของเชฟรอนในอ่าวไทยได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทได้มีมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว ขณะที่ปัจจุบันบริษัทได้ระงับการเดินทางออกไปยังฐานปฏิบัติงานนอกชายฝั่งไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ