ปลัดพลังงาน รอกพช.เคาะแผน PDP 24 ม.ค.ก่อนลุ้นประมูล IPP ใหม่ช่วงปี 62-63 จำนวน 700-1,400 MW

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 10, 2019 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) ครั้งใหม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปี 62-63 จำนวน 700-1,400 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 66 จำนวน 700 เมกะวัตต์ และ ปี 67 จำนวน 700 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกที่บรรจุอยู่ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ ปี 2561-2580 ซึ่งเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 24 ม.ค.นี้

"แผน PDP จะเสนอต่อที่ประชุมกพช.ในวันที่ 24 นี้ ซึ่งแผน PDP ก็จะเป็นกรอบเพื่อให้มาจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติของกระทรวงพลังงานระยะ 5 ปีต่อไป โรงไฟฟ้า IPP ที่จะเข้าระบบเป็นโรงแรกอยู่ในปี 66 และปี 67 ก็จะออกประกาศรับซื้อได้ใน 1-2 ปีเพราะการก่อสร้างต้องใช้เวลา 4-5 ปี ซึ่งหลังกพช.อนุมัติแล้วกกพ.ก็จะเป็นผู้จัดทำรายละเอียดการรับซื้อต่อไป ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดรับซื้อทีละครั้งหรือว่าเปิดพร้อมกันเลย"นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ (TECO) ของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ที่อยู่ในจ.ราชบุรี และกำลังจะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 63 นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่ และหากมีการต่ออายุโรงไฟฟ้าดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของไทยออกไปนั้น ยังจะมีความจำเป็นต้องเปิดประมูล IPP อีกหรือไม่นั้น เห็นว่ายังต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับแผน PDP จากการประชุมกพช.ครั้งนี้ก่อน

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า IPP ที่จะเปิดประมูลครั้งใหม่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) /IPP ที่จะมีทั้งหมดประมาณ 8,300 เมกะวัตต์ ตลอดแผน PDP ปี 2561-2580 ส่วนจะมีการกำหนดว่าโรงไฟฟ้าใดจะเปิดให้มีการแข่งขัน IPP หรือให้กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการนั้น ต้องพิจารณาจากแผนแม่บทด้านไฟฟ้าที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อศึกษาความเหมาะสมการตั้งโรงไฟฟ้าประเภทใดในแต่ละภูมิภาค และผู้ใดจะเป็นผู้ลงทุน เพราะต้องดูความสามารถในการลงทุนของกฟผ.ควบคู่กันไปด้วย จึงจะรู้ว่าพื้นที่ใดจะเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน หรือพื้นที่ใด กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแผนบริหารจัดการไฟฟ้าดังกล่าวเป็น 1 ใน 5 แผนที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือน ม.ค.นี้

อนึ่ง แผนแม่บทกระทรวงพลังงาน ปี 62-65 ประกอบด้วย แผนบริหารจัดการไฟฟ้า ,แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) , แผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) ,แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)

ตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2580 ที่ 73,211 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2560 ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 46,090 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน (กฟผ./IPP) จำนวน 8,300 เมกะวัตต์แล้ว ยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 20,757 เมกะวัตต์ด้วย โดยในส่วนนี้เป็นกำลังการผลิตจากโซลาร์ภาคประชาชน จำนวน 10,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่นั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี 2570 ทำให้เกิดกระแสการร้องเรียนจากภาคเอกชนต่อการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ล่าช้าดังกล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 วันนี้ คณะอนุกรรมการร่างแผน PDP จะพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนเพื่อสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นก่อนที่จะนำเสนอต่อกพช. ซึ่งเบื้องต้นเอกชนมีความไม่มั่นใจต่อการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) ,การไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในร่างแผน PDP ในช่วงต้นของแผนนั้น เบื้องต้นยืนยันว่าผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้แล้วจะไม่มีผลกระทบ แต่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่นั้น รัฐบาลยืนยันว่ายังคงให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่การจะรับซื้อต้องพิจารณาว่าจะต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าทั้งระบบด้วย

เบื้องต้นกระทรวงพลังงานต้องการให้เอกชนทดลองการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันก่อนว่าเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและไม่รบกวนไฟฟ้าทั้งระบบของประเทศ และหากต้องการให้รัฐบาลช่วยปลดล็อกในด้านใดก็ให้แจ้งวัตถุประสงค์มาก็จะช่วยดำเนินการให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว เช่น การส่งไฟฟ้าผ่านระบบส่ง เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อมีความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างมีความเสถียรและมั่นคง ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดลง อีกทั้งแผน PDP ก็จะมีการปรับปรุงทุก 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็อาจจะทำให้มีความเหมาะสมในการที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นรัฐบาลยังจะรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชน ที่ตามแผนร่าง PDP จะมีกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบได้ราว 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการจัดทำเกณฑ์การรับซื้อและราคารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมกพช.ได้พร้อมกันในวันที่ 24 ม.ค.นี้ โดยหลังหลักเกณฑ์ผ่านเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนนำร่อง 100 เมกะวัตต์ ในปีแรกก่อน ซึ่งคงจะมีการกำหนดเป็นโซนพื้นที่ด้วย หากประสบความสำเร็จก็จะขยายโอกาสเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ในการประชุมกพช.วันที่ 24 ม.ค.นี้ นอกเหนือจากเสนอร่างแผน PDP ฉบับใหม่แล้ว ยังจะมีการเสนอการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กลุ่ม Cogeneration ที่จะสิ้นสุดลงระหว่างปี 60-68 ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ