(เพิ่มเติม) บอร์ด BOI อนุมัติมาตรการพิเศษส่งเสริมลงทุนอุตฯระบบราง-ขยายประเภทกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับส่งเสริมลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 11, 2019 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง และการปรับปรุงเงื่อนไขและเพิ่มกิจการท่องเที่ยวใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และสร้างโอกาสในการลงทุนสู่ภูมิภาค รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากในอนาคต จะมีการพัฒนาระบบรางระยะทางรวมมากกว่า 6,000 กิโลเมตร ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง จึงเป็นโอกาสอันดีในการสร้างอุตสาหกรรมในประเทศจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย และลดการพึ่งพาการนำเข้า

ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ จึงเห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบรางที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ และการผลิตชิ้นส่วนและ/หรือระบบสนับสนุนที่จำเป็น อาทิ การผลิตโครงสร้างหลัก ตู้โดยสาร ห้องควบคุมรถและอุปกรณ์ โบกี้ ระบบห้ามล้อและ/หรือชิ้นส่วนสำคัญ ระบบไฟฟ้าและระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบควบคุมและระบบอาณัติสัญญาน รางและชิ้นส่วนราง เป็นต้น รวมทั้งการออกแบบทางวิศวกรรม

นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนในกลุ่มกิจการอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานรองรับระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐในอนาคต โดยกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 นี้ จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3-5 ปี นับจากวันสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ หากลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนด

"นอกจากมาตรการของบีโอไอจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตในระบบรางแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันหนึ่งในการช่วยสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากรระหว่างบริษัทเอกชนและสถาบันการศึกษาด้วย และที่สำคัญระบบรางต่างๆ จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย" เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ทั้งนี้ เลขาบีโอไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผลการศึกษาออกมาถ้าจะมีการตั้งโรงงานประกอบรถไฟ ต้องมีกำลังการผลิตประมาณ 300 ตู้ต่อปีถึงจะคุ้มทุน และการศึกษาพบว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าปริมาณความต้องการตู้รถไฟ ทั้งประเภทรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟรางเบา และรถไฟความเร็วสูง จะมีมากเป็นหมื่นตู้ จึงเห็นว่า ควรมีการสนับสนุนกิจการประเภทนี้เพื่อรองรับการเติบโตของระบบรางในอนาคต

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า หากมีการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มจาก 3 ปีเป็น 5 ปี ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้มีการศึกษามาแล้วว่า ทั้ง 2 จังหวัดมีความเหมาะสม และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนยานยนต์และแปรรูปโลหะอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อเสนอที่จะให้มีการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมรางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2. นโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอื่นๆ ได้ ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ จึงควรกระตุ้นให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น และสอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน คณะกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการด้านการท่องเที่ยวที่ให้การส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการใหม่ ดังนี้

1) ปรับปรุงแก้ไขหรือขยายขอบเขตประเภทกิจการ รวมถึงเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนเดิม อาทิ กิจการพิพิธภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมกิจการพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ในเมืองรองต่าง ๆ

2) เพิ่มประเภทกิจการ ได้แก่ 1.กิจการท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (CRUISE TERMINAL) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ โดยเฉพาะเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (CRUISE) 2.กิจการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่มีขนาดใหญ่ และได้มาตรฐานสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว

"คณะกรรมการบีโอไอ มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงประเภทกิจการด้านการท่องเที่ยวที่ให้การส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเปิดให้การส่งเสริมประเภทกิจการใหม่ โดยปรับปรุงแก้ไขหรือขยายขอบเขตประเภทกิจการรวมถึงเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนเดิม อาทิ กิจการพิพิธภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมกิจการพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้นนอกเหนือเพียงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดพิพิธภัณฑ์ในเมืองรองต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการลดเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำจากเดิม 100 ล้านบาท ลดลงเหลือ 30 ล้านบาท" เลขาบีโอไอ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ