ม.หอการค้าไทย เผย 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 62 ธุรกิจ e-commerce ครองแชมป์อันดับ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2019 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการวิจัยทางธุรกิจใน 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง และ 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2562 พบว่า 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง ได้แก่ อันดับ 1 ธุรกิจ e-commerce อันดับ 2 ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม อันดับ 3 ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว อันดับ 4 ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์ รวมทั้งผู้ให้บริการโครงข่าย ได้คะแนนเท่ากับธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ และธุรกิจเกมส์ ธุรกิจพัฒนา application อันดับ 5 ธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี

อันดับ 6 ธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว, Hostel, Modern tourism และ lifestyle tourism และธุรกิจ street food อันดับ 7 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อันดับ 8 ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ, ธุรกิจประกันชีวิต ประกันภัย, ธุรกิจด้านติวเตอร์ สถาบันภาษา อันดับ 9 ธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ อันดับ 10 ธุรกิจคาร์แคร์ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา และบรรจุภัณฑ์

สำหรับสาเหตุที่ธุรกิจ e-commerce ติดธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 เนื่องจากมีช่องทางการจำหน่ายจำนวนมาก และต้นทุนต่ำ ไม่ต้องมีหน้าร้าน สามารถซื้อขายสินค้าได้ตลอด 24 ชม., พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก, มีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ, มีผู้ประกอบการในการให้บริการ platform รายใหญ่เข้ามาขยายธุรกิจในไทย เช่น อาลีบาบา, ลาซาด้า และช้อปปี้ เป็นต้น รวมทั้งมีระบบการขนส่งที่รวดเร็ว และมีระบบการชำระเงินที่หลากหลาย

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายเก็บภาษีธุรกิจขายสินค้าออนไลน์, การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งจากคู่แข่งเดิมและคู่แข่งใหม่, ปัญหาความน่าเชื่อถือของร้านค้าออนไลน์ การหลอกขายสินค้าไม่ได้คุณภาพ และข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตของผู้บริโภคบางส่วน

ส่วนธุรกิจดาวร่วง 10 อันดับในปี 2562 อันดับ 1 คือ ธุรกิจเช่าหนังสือ, ธุรกิจหัตถกรรม และเฟอร์นิเจอร์ไม้ (ดั้งเดิมที่ไม่มีการปรับตัว) อันดับ 2 ธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่น DVD, CD และเครื่องเล่น DVD, CD อันดับ 3 ธุรกิจร้านให้บริการอินเตอร์เน็ต, ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร อันดับ 4 ธุรกิจหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอก และหนังอัด อันดับ 5 ธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน

อันดับ 6 ธุรกิจสถานศึกษาเอกชน, ธุรกิจพ่อค้าคนกลางทางการเกษตร อันดับ 7 ธุรกิจของเล่น อันดับ 8 ธุรกิจผลิตสังกะสี อันดับ 9 ธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิม ธุรกิจดอกไม้ ใบไม้ และต้นไม้ประดิษฐ์ และอันดับ 10 ธุรกิจอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และปาล์มน้ำมัน

ทั้งนี้ ผลการวิจัยธุรกิจดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ 4.0-4.2% การส่งออก ขยายตัว 4.8-5.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.1-1.3% และอัตราการว่างงานที่ 1.0-1.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนต่อการดำเนินธุรกิจในปี 62 ได้แก่ เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังขยายตัวในระดับ 4% ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น, การลงทุนภาครัฐยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ, มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงสินเชื่อควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน, กำลังซื้อของประชาชนฐานรากที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ, การประกาศจัดการเลือกตั้ง และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ยังคงมีปัจจัยบั่นทอน ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งและการก่อการร้ายระหว่างประเทศ, สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน, แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจสูงขึ้น, ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการวิจัยทางธุรกิจถึง 10 อาชีพเด่น และ 10 อาชีพที่ไม่โดดเด่นในปี 2562 ด้วย โดย 10 อาชีพที่โดดเด่นในปีนี้ อันดับ 1 แพทย์ (แพทย์ผิวหนัง, ศัลยแพทย์) อันดับ 2 นักวิเคราะห์ข้อมูล นักพัฒนา Application นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และโปรแกรมเมอร์ อันดับ 3 นักบิน, นักการตลาดออนไลน์, เน็ตไอดอล อันดับ 4 นักขายออนไลน์, นักการเงิน อันดับ 5 ผู้พิพากษา, ทนาย อันดับ 6 ผู้ประกอบการ อันดับ 7 ดารา/นักร้อง อันดับ 8 นักวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยด้นอาหาร, นักพัฒนาผลิตภัณฑ์และวิจัยอาหาร, ทันตแพทย์ อันดับ 9 ครูสอนพิเศษ, กราฟิคดีไซเนอร์ อันดับ 10 ที่ปรึกษาธุรกิจ นักวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม นักกีฬา E-spot เกมเมอร์

โดยสาเหตุที่แพทย์ (แพทย์ผิวหนัง และศัลยแพทย์) เป็นอาชีพดาวรุ่งอันดับ 1 เนื่องจากความต้องการแพทย์ยังมีสูง ประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงาม จำนวนแพทย์ที่ออกสู่ตลาดแรงงานยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้ระดับรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่รวดเร็ว, ความเชื่อมั่นต่อการรักษาหรือการให้บริการ, ภาระงานที่มีจำนวนมาก และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการรักษา เป็นต้น

ส่วน 10 อาชีพที่ไม่โดดเด่นในปีนี้ อันดับ 1 อาชีพฟอกย้อมผ้า อันดับ 2 ช่างซ่อมรองเท้า อันดับ 3 นักหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร อันดับ 4 นักข่าววิทยุ/โทรทัศน์, ครู อาจารย์ในสถาบันการศึกษาเอกชน อันดับ 5 บรรณารักษ์ อันดับ 6 ช่างเย็บจักรไร้ฝีมือ อันดับ 7 เกษตรกร อันดับ 8 โบรกเกอร์ นายหน้า อันดับ 9 call center อันดับ 10 พนักงานธนาคาร

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่ออาชีพในปี 2562 ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.0-4.2% แนวนโยบายการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 การเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ง่าย และระดับราคาไม่สูง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่เน้นความสะดวกสบาย และความเป็นเทคโนโลยีมากขึ้น การให้ความสำคัญของฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และการวางแผนธุรกิจมีมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ