SCB EIC ชี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ราคาน้ำมันทรงตัว ฉุดส่งออกปีนี้โตแค่ 3.4% นำเข้า 3.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2019 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการณ์อัตราเติบโตของการส่งออกไทยปี 2562 จะขยายตัวที่ 3.4% ชะลอลงจากปี 2561 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวชะลอลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกคาดว่าจะมีทิศทางทรงตัว ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทย นอกจากนี้ สินค้าส่งออกไทยหลายกลุ่มยังมีโอกาสได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทั้งจากมาตรการที่ประกาศใช้ไปแล้วในปีก่อนหน้า และมาตรการเพิ่มเติมที่จะเริ่มใช้ในปีนี้ โดยยังต้องติดตามท่าทีของทางจีนและสหรัฐฯ ต่อข้อตกลงด้านสงครามการค้าซึ่งระหว่างนี้ยังอยู่ในช่วงของการเจรจา 90 วัน โดยจะหมดอายุในวันที่ 1 มีนาคม 2562 ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีเพิ่มเติมจากเดิมที่อัตรา 10% เป็น 25% สำหรับสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้เริ่มใช้มาตรการแล้วในเดือนกันยายน 2561

ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์การเจรจาล่าสุด พบว่า ในระยะสั้น จีนมีท่าทีประนีประนอมในการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากทางสหรัฐฯ มากขึ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ต่อจีนก็พบว่ามีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น ข้อเรียกร้องด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดภาคบริการและเกษตรกรรม เป็นต้น โดย EIC ประเมินว่า ทั้งสองฝ่ายน่าจะสามารถมีข้อตกลงได้ภายในครึ่งหลังของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดี 2563

ขณะเดียวกัน SCB EIC ประมาณการการขยายตัวของการนำเข้าในปี 2562 จะขยายตัวที่ 3.6% ชะลอลงจากการขยายตัวที่ 12.5% ในปี 2561 จากแนวโน้มการชะลอตัวของการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งออก ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางทรงตัว ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าสินค้านำเข้าประเภทสินค้าทุนและอุปโภคบริโภค จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนในประเทศ ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ

ทั้งนี้ ในเดือน ธ.ค.61 มูลค่าการส่งออกไทยหดตัวที่ -1.72%YOY หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือน พ.ย.61 ที่หดตัว -0.95%YOY ขณะที่มูลค่าการส่งออกทองคำขยายตัว 20.9%YOY ตามการขยายตัวที่สูงในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งบางตลาดในเอเชีย เช่น สิงคโปร์และฮ่องกง ทั้งนี้หากหักสินค้าทองคำ พบว่ามูลค่าส่งออกหดตัวที่ -2.1%YOY ขณะที่ในปี 2561 มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ที่ 6.7% ต่อปี และหากหักสินค้าทองคำ จะขยายตัวที่ 7.4% ต่อปี

สินค้าหลักที่มีการหดตัว ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (-13.5%YOY) ยางพาราและผลิตภัณฑ์ (-8.4%YOY) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-22.8%YOY) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (-25.8%YOY) เครื่องใช้ไฟฟ้า (-1.7%YOY) และข้าว (-5.5%YOY) ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่หดตัวนั้น มีสาเหตุหลักจากราคายางพารา เดือนธันวาคมที่ปรับตัวลดลง -9.5%YOY ขณะที่ราคาของข้าวส่งออกไทยมีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เสียตลาดให้แก่คู่แข่งผู้ส่งออกข้าว เช่น อินเดีย เวียดนาม และกัมพูชา ด้านมิติของการส่งออกรายประเทศ พบว่ามีการหดตัวในหลายตลาดสำคัญ ได้แก่ การส่งออกไปยังตลาดจีน (-7.3%YOY) ยุโรป (-5.0%YOY) ซีแอลเอ็มวี (-4.2%YOY) เกาหลีใต้ (-9.1%YOY) ไต้หวัน (-9.0%YOY) อินเดีย (-12.9%YOY) ออสเตรเลีย (-7.6%YOY) ตะวันออกกลาง (-16.0%YOY) และแอฟริกา (-5.9%YOY) ขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.6%YOY โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้ การส่งออกไปยังญี่ปุ่น และอาเซียน-5 ยังสามารถขยายตัวได้ที่ 2.7%YOY และ 8.0%YOY ตามลำดับ

โดยสินค้าส่งออกไทยหลายรายการยังคงได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกที่ถูกตั้งเก็บภาษีนำเข้าโดยสหรัฐฯ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ซึ่งเดือนธันวาคม มีการหดตัวในตลาดสหรัฐฯ ที่ -91.1%YOY และ -26.6%YOY ตามลำดับ หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทำให้มูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มดังกล่าวในภาพรวมทุกตลาดหดตัวที่ -52.2%YOY และ -6.4%YOY ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดสหรัฐฯ ทั้งปี 2018 หดตัวที่ -72.8% และ -51.1% ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าส่งออกเหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ในตลาดสหรัฐฯ ที่ 12.9%YOY และ 75.0%YOY และในภาพรวมทุกตลาดส่งออกของสินค้าดังกล่าวยังขยายตัวได้ที่ 3.6%YOY และ 7.8%YOY ตามลำดับ

ขณะที่มีสินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผ่านห่วงโซ่อุปทาน ยังคงมีการหดตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในหมวดแผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งคาดว่าบางส่วนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าโดยสหรัฐฯ มีการหดตัวที่ -9.8%YOY และ -42.1%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าประเภทเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ เช่นกัน ยังคงสามารถขยายตัวได้ดีที่ 10.7%YOY และ 45.5%YOY ตามลำดับ

ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ -8.15%YOY พลิกหดตัวจากการเติบโตที่ 14.7%YOY ในเดือนก่อนหน้า นำโดยหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหดตัว -20.9%YOY อย่างไรก็ดี ตัวเลขหดตัวดังกล่าวมาจากการหดตัวของการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ โดยในเดือนธันวาคม มูลค่าการนำเข้าทองคำหดตัวมากถึง -82.2%YOY ทำให้หากหักสินค้าทองคำ การนำเข้าสินค้าหมวดวัตถุดิบจะหดตัวเพียง -1.9%YOY และการนำเข้าในภาพรวมจะพลิกกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.1%YOY นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุนก็มีการหดตัวเช่นกัน โดยหดตัวที่ -3.1%YOY และ -2.7%YOY ตามลำดับ ในส่วนของการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง มีการขยายตัวที่ 12.3%YOY ทั้งนี้ การนำเข้าปี 2561 เติบโตที่ 12.5% ต่อปี และหากหักสินค้าทองคำ จะขยายตัวที่ 13.0% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ