KBANK มองเงินบาท H1/62 แนวโน้มผันผวนแข็งค่าตามปัจจัยฤดูกาล ก่อนปรับฐานอ่อนค่ามาที่ 33 ในช่วงสิ้นปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 8, 2019 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ธนาคารคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปีเงินบาทจะได้รับแรงกดดันให้แข็งค่าเนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา กดดันให้เงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ช่วงต้นปีไปจนถึงกลางเดือน เม.ย.ของทุกปี

นอกจากนั้น สถานการณ์ในฝั่งสหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้เงินบาทและเงินสกุลเอเชียแข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งต่อไปออกไป จากความกังวลต่อความผันผวนของตลาดการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เพียงครั้งเดียวในช่วงปลายปี จากก่อนนี้ที่ตลาดคาดว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปเป็นปี 63

นอกจากนั้น สถานการณ์ในสหรัฐฯ ยังทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะไทยที่มีสถานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง และสัดส่วนหนี้สินในรูปเงินสกุลต่างประเทศต่ำ จะทำให้เงินบาทผันผวนแข็งค่าใกล้ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปี 62

ทั้งนี้ เมื่อปัจจัยด้านฤดูกาลท่องเที่ยวผ่านพ้นไป คาดว่าเงินบาทจะมีการปรับฐานไปในทิศทางอ่อนค่า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงกลางปี อาจทำให้มีเงินทุนไหลกลับจากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และอีกส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

ประเมินว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อไปจนถึงช่วงปลายปี ทำให้นโยบายกีดกันการค้าที่ทั้งสองฝ่ายกำลังบังคับใช้ระหว่างกันดำเนินต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลก การส่งออกไทย วมถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวของจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยชะลอลง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ ธปท.จำเป็นต้องชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน

รวมทั้งสหราชอาณาจักรยังมีความเสี่ยงที่จะต้องออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) โดยไม่มีข้อตกลงนั้นจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของทั้งสหราชอาณาจักรเองและยูโรโซน อีกทั้งสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงหลังการเลือกตั้งยังมีความไม่แน่นอนในด้านความต่อเนื่องของนโยบาย

"ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้เงินบาทผันผวนและอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ช่วงสิ้นปี"นายธิติ กล่าว

นายธิติ กล่าวว่า แม้ในปี 61 เงินบาทจะมีความผันผวนโดยเฉลี่ยมากกว่าในปี 60 และปรับตัวแข็งค่าเป็นอันดับสองของภูมิภาค รองจากเงินเยนญี่ปุ่น แต่สัดส่วนการป้องกันความเสี่ยง (Hedging Ratio) ของผู้ประกอบการไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากปี 60 มากนัก

ดังนั้น ผู้ประกอบการยังควรเตรียมรับมือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ ท่ามกลางปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าเกี่ยวกับข้อมูลตลาดเงินและทิศทางเศรษฐกิจ ช่วยวิเคราะห์ผลกระทบของค่าเงินต่อกิจการ และแนะนำเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึง พร้อมให้บริการให้คำปรึกษาในการชำระและรับชำระเป็นสกุลเงินท้องถิ่นสำหรับ AEC + 3 (Asean + จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงสามารถขยายฐานการตลาดได้กว้างขึ้น ส่วนลูกค้าที่จะไปลงทุนต่างประเทศ ธนาคารก็พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ