ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 31.33/34 แข็งค่าจากช่วงเช้า ลุ้นสัญญาณเชิงบวกเจรจาสหรัฐ-จีน คาดกรอบพรุ่งนี้ 31.25-31.40

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 12, 2019 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.33/34 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วง เช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 31.39/41 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทช่วงเย็นนี้ปรับตัวแข็งค่าจากช่วงเช้า ซึ่งน่าจะเป็นผลจากที่ตลาดเห็นสัญญาณในเชิงบวก หลังจากคณะผู้แทนการเจรจา ของทั้งสหรัฐฯ และจีน เตรียมจะเริ่มเปิดเจรจาการค้ารอบล่าสุดในช่วงปลายสัปดาห์นี้ (14-15 ก.พ.)

"เย็นนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากตอนเช้า น่าจะเป็นผลจากที่จะมีการพูดคุยกันระหว่างสหรัฐ และจีน" นักบริหารเงินระบุ

อย่างไรก็ดี วันนี้ที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาวออกมาระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังคงต้องการจะพบปะหารือกับประธานาธิบดี ของจีน เพื่อพยายามยุติสงครามการค้า ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณในเชิงบวก

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าได้ต่อ มองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.25 - 31.40 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องติดตามการรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของสหรัฐ ซึ่งตลาดจับตาว่าจะออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้หรือไม่

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 110.54/56 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 110.20/60 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1272/1274 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1250 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,642.49 จุด เพิ่มขึ้น 4.49 จุด (+0.27%) มูลค่าการซื้อขาย 34,886 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 806.71 ลบ.(SET+MAI)
  • ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า มูลการส่งออกไทยปี 2562 จะอยู่ที่ราว 2.63 แสน
ล้านดอลลาร์ ขยายตัวได้เพียง 4.4% เท่านั้น ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย
ในปีนี้ คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อ, ทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว, เงินบาทแข็งค่า, ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง
เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล จากค่าเสียโอกาสโดยเฉพาะ ในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่สำคัญ คิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 14,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยมีสาเหตุหลักมาจากกรอบเวลาที่นานขึ้น และการเพิ่มเติมค่าเสียโอกาสบางรายการ โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณคือ จากเดิมที่ ประเมินไว้ราวๆ 1 เดือน ปรับเป็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 - สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 (หรือประมาณ 65 วัน)

  • ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ
2562 (ต.ค.61 - ม.ค.62) สคร. สามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจ และกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า
50% จำนวน 71,401 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมจำนวน 14,452 ล้านบาท หรือ 25% ของประมาณ
การสะสม
  • นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เผยการเจรจาว่าด้วยการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป(Brexit) กำลังอยู่ในช่วงที่
สำคัญ และเตรียมบอกกล่าวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ควบคุมสติอารมณ์ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับการผ่านข้อตกลง
Brexit จากรัฐสภาก่อนที่จะถึงเส้นตายในวันที่ 29 มี.ค.62
  • หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เห็นด้วยกับคณะกรรมการเฟดที่เปลี่ยนไปใช้แนวทาง "อดทน" ต่อการ
ดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยคงที่อยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ
พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่ดี การขยายตัวของค่าแรงเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง และเงินเฟ้ออยู่ใกล้กับเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด
ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับภาคครัวเรือนและแรงงานสหรัฐ
  • สถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจโลก ประจำไตรมาสแรกของปี
2562 ลดลงแตะระดับ -13.1 จุด โดยเป็นการลดลงครั้งที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญต่างมีมุมมองเป็นลบมากขึ้นเกี่ยวกับ
กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ และยูโรโซน
  • นักลงทุนติดตามการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ เช่น อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค., จำนวนผู้ขอรับ
สวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ