CBRE มองตลาดอสังหาฯปี 62 ไม่หมู มาตรการ LTV ฉุดตลาด-ซัพพลายคอนโดฯล้น คาดเปิดใหม่น้อยลง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 12, 2019 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด (CBRE) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดอสังตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 62 จะเป็นปีที่มีความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก จากปัจจัยกดดันต่างๆที่เข้ามา เช่น มาตรการควบคุมเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบ้าน (LTV) ที่ออกมาใหม่จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดกลาง-บน ที่อาจจะมีการชะลอตัวเกิดขึ้นได้

ขณะเดียวกันจำนวนซัพพลายคอนโดมิเนียมทั้งตลาดยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เป็นจำนวนมาก และราคาขายคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ในแต่ละทำเลไม่เหมาะสมกับกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากในช่วงที่ผ่านมาราคาขายคอนโดมิเนียมปรับเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าปกติ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.5-13% ต่อปี จากปกติที่เพิ่มขึ้น 8-9% ต่อปี ทำให้ราคาขายคอนโดมิเนียมในปี 61 มาอยู่ที่ 280,000 บาท/ตางรางเมตร จากปี 58 ที่ 200,000 บาท/ตารางเมตร

ราคาขายข้างต้นถือว่าเป็นราคาขายที่สูงเกินกว่ากำลังซื้อของคนในประเทศ ส่งผลให้เกิดสต็อกเหลือขายเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างไม่เร่งการเปิดโครงการใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ในไตรมาส 1/62 ที่ยังไม่ค่อยมีผู้ประกอบการรายใดเริ่มเปิดโครงการใหม่ออกมา หากไม่ใช่โครงการที่เป็นเลื่อนเปิดมาในปีนี้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ในตอนนี้เน้นการระบายสต็อกให้ลดน้อยลงเป็นหลัก ทำให้ในปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนซัพพลายที่เปิดใหม่เข้ามาในปีนี้ลดลงมาที่ 9,000 ยูนิต จากปีก่อนที่ 12,000 ยูนิต

นอกจากนี้ แนวโน้มพฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยของลูกค้ายังมีการเปลี่ยนแปลงไป หลังจากปัจจัยแวดล้อมของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในปี 62 มีผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ซึ่งเกณฑ์การควบคุมด้านสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้าที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้เป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง หรือกลุ่มที่ลงทุนระยะยาวจะมีสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ทั้งกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ โดยที่กลุ่มลูกค้าชาวจีนแม้ว่าจะชะลอตัวไปในช่วงที่ผ่านมาจากปัจจัยสงครามการค้าและค่าเงินหยวนที่อ่นค่า แต่ยังเป็นกลุ่มลุกค้าหลักที่มีกำลังซื้อสูงและมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

ด้านปัจจัยการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้นยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามว่าการเลือกตั้งจะเดินหน้าไปอย่างไร และหลังการเลือกตั้งแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลจะมีเสถียรภาพเป็นอย่างไร ประกอบกับการลงทุนโครงการต่างๆ จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยให้มีความคึกคักมากขึ้น และมีการกระจายตัวของที่อยู่อาศัยไปในหลายๆทำเลที่เป็นทำเลใหม่ และยังส่งผลต่อราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นมากอีกด้วย

สำหรับอาคารสำนักงานให้เช่ามองว่าความต้องการพื้นที่สำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตลาดพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปตามกระแสพื้นที่ทำงานที่มีความคล่องตัว (Agile Workplace) และโคเวิร์กกิ้งสเปซ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเช่าใช้สำนักงานขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยพื้นที่สำนักงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะสร้างแรงกดดันให้กับอาคารสำนักงานเก่าต้องปรับปรุงและยกระดับเพื่อให้คงความสามารถในการแข่งขันในตลาด ซึ่งในอีก 4 ปี กรุงเทพฯ จะมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดอาคารสำนักงาน เนื่องจากพื้นที่ 2 ล้านตารางเมตรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและการวางแผนจะเข้าสู่ตลาดคาดว่าความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 200,000 ตารางเมตร/ปี

ส่วนการปรับตัวในตลาดค้าปลีกที่ขยับไปสู่อี-คอมเมิร์ซและการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ค้าปลีกที่มีหน้าร้านต่างคิดหากลยุทธ์ในการนำเสนอสิ่งที่การซื้อขายออนไลน์ไม่สามารถให้ได้ เช่น การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในศูนย์การค้า หรือทำให้ร้านเป็น Retailtainment หรือการผสมผสานความบันเทิงกับการให้บริการเพื่อสร้างความแตกต่าง และเป็นตัวดึงดูดให้มีผู้คนเข้ามาใช้ศูนย์บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการที่เครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้เริ่มร่วมลงทุนกับพันธมิตรในธุรกิจบันเทิงระดับโลก คือ AEG ลงทุนก่อสร้างฮอลล์จัดแสดงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ใจกลางเมือง เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ