พาณิชย์ ชี้ช่องส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐฯ หลังเกิดความกังวลภาวะขาดแคลนอาหารจากสภาพอากาศหนาวจัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 13, 2019 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงผลพวงของสภาพอากาศที่เลวร้ายในสหรัฐฯ หลายพื้นที่กำลังประสบกับสภาพอากาศหนาวเย็นอย่างหนักที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวนหนึ่ง และมีรายงานความเสียหายของพื้นที่ทางการเกษตรจำนวนมาก รวมทั้งการคมนาคมขนส่งสินค้าบางส่วนเกิดภาวะชะงักงัน และมีความกังวลว่าอาจเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศในไม่ช้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าผลผลิตด้านการเกษตรของสหรัฐฯ จะลดลง และเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต คาดว่าสหรัฐฯ อาจมีการนำเข้ามากขึ้น จึงเป็นช่องทางสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย

ผลของสภาพอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐฯ เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่แม้จะยังไม่มีปัญหาสัตว์ล้มตาย แต่กลับมีต้นทุนสูงในด้านการจัดการเพิ่มขึ้น จากการฉีดพ่นไอร้อน และเสริมอาหารพิเศษที่มีต้นทุนสูงให้กับสัตว์เพื่อใช้คลายความหนาว นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ที่ต้องปิดตัวในหลายพื้นที่ โดยผู้เพาะปลูกคาดการณ์ว่าหากสภาพอากาศเลวร้ายลง หิมะอาจเปลี่ยนเป็นน้ำแข็งปกคลุม ซึ่งจะทำให้ต้นพืชไม่สามารถอยู่รอดได้

กระทรวงพาณิชย์มองว่า สภาพอากาศดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋อง ผักผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นการส่งออกของไทยอาจยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่งจะผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้สต็อกอาหารของประเทศยังมีเพียงพอ แต่หากสภาพอากาศยังเลวร้ายต่อเนื่อง สหรัฐฯ ก็อาจพิจารณานำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และจะเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดในสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของสินค้าที่มีการขยายตัวดีอยู่แล้ว และสินค้าที่ก่อนหน้านี้มีภาวะการชะลอตัวของตลาด อันจะส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวมากขึ้นในช่วงถัดไป

ปัจจุบัน สถิติการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในปี 2561 มีมูลค่ารวม 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 14.8% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่า 3,961.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นสินค้าเกษตร 1,451.3 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าว ยางพารา กุ้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลไม้สด และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 2,510.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และเครื่องปรุงรส

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรที่การส่งออกยังเติบโตได้ดี อาทิ ข้าว 38.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 32.1% และผลไม้สด 25.8% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ อาหารสัตว์ 27.6% ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป 8.1% เครื่องปรุงรส 8.3% ผักกระป๋องและผักแปรรูป 10.0% และผลิตภัณฑ์ข้าว 18.1% เป็นต้น

"ผลจากสภาพอากาศในสหรัฐฯ อาจส่งผลให้สินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะอาหารสดและแช่แข็ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูปมีโอกาสการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนมีความต้องการเก็บสะสมอาหารมากขึ้นเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ สินค้าเช่น อาหารทะเลกระป๋อง ผักและผลไม้กระป๋อง มีโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าปศุสัตว์ อย่างไก่สดแช่แข็ง คาดว่าจะไม่ได้รับอานิสงส์เท่าใดนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในสหรัฐฯ มีการเตรียมความพร้อมรับมืออยู่พอสมควร และสหรัฐฯ มีข้อตกลงกับประเทศในแถบอเมริกาใต้ และแอฟริกาในการนำเข้าสินค้าไก่สดแช่แข็งอยู่แล้ว จึงคาดว่าการส่งออกไก่สดจะไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ เช่น เนื้อหมู และเนื้อวัว ไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯ" นางสาวชุติมา กล่าว

นอกจากนี้ คาดว่าสินค้าที่ไทยน่าจะส่งออกได้มากขึ้นคือสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากผลผลิตการเกษตร เช่น ข้าวโพด และถั่วเหลือง เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ต้องการส่งออกไปจีนเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบอาหารสัตว์ และล่าสุดจีนตกลงที่จะนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ กว่า 5 ล้านตัน เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งหากสหรัฐฯ ต้องส่งออกไปจีนและหากผลผลิตในประเทศลดลงด้วย ก็ย่อมจะส่งผลต่อปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศที่อาจมีไม่เพียงพอ และทำให้ต้องนำเข้ามากขึ้น สำหรับสินค้าประมงในตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวจากการสูญเสียตลาดส่วนหนึ่งให้คู่แข่งจากอเมริกาใต้ โดยเฉพาะสินค้ากุ้งจากเอกวาดอร์ อันมีสาเหตุมาจากต้นทุนสินค้ากุ้งของไทยสูง ก็อาจมีโอกาสส่งออกมากขึ้นในระยะถัดไป


แท็ก คมนาคม   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ