คมนาคม แจงให้เช่าพื้นที่มักกะสัน 50 ปีรองรับไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ยันรัฐยังเป็นเจ้าของ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 14, 2019 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงคมนาคม ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตนักการเมือง และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการของกระทรวงคมนาคมว่า การนำที่ดินรถไฟมักกะสันไปเพื่อการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษของรัฐบาลที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ชี้แจงโดยสรุปว่าการที่ได้รวมพื้นที่ย่านมักกะสันในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ พื้นที่แปลง 2 และ 3 ขนาดประมาณ 140 ไร่ (ไม่รวมบึงมักกะสัน โรงงาน บ้านพักพนักงาน และโรงพยาบาล) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการปรับปรุงการจราจรทางเข้า - ออกพื้นที่สถานีให้มากขึ้นจากเดิมที่เข้าออกได้เพียง 1 จุดบนถนนอโศกมนตรี ให้สามารถเข้า-ออกได้มากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางให้ผู้โดยสารได้รับประโยชน์ การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเช่าโดยมีสัญญาสัมปทาน 50 ปี สอดคล้องกับกฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ซึ่งไม่มีเงื่อนไขการต่อหรือขยายระยะเวลาใน TOR และสัญญา ทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน

เนื่องจากโครงการฯ เป็น Built Transfer Operate (BTO) รัฐจึงเป็นเจ้าของและถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมด 100% และการพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์เพิ่มสูงขึ้นต่อการดึงดูดผู้โดยสาร จะทำให้รัฐบาลจ่ายเงินค่าร่วมลงทุน หรือสนับสนุนต่อการเกิดโครงการให้แก่เอกชนน้อยลง แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ใช้เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน และการได้รับค่าเช่าตลอดระยะเวลา 50 ปี (รวมอัตราเงินเฟ้อ) รวมประมาณ 52,337 ล้านบาท และยืนยันว่าการประเมินราคาที่ดินเป็นไปตามราคาตลาด (ไม่ได้ต่ำกว่าความเป็นจริง 3-4 เท่า ดังที่อ้าง) จัดทำการประเมินราคาโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับกรณีที่กล่าวหาว่ายกโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ให้เอกชนในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น

ในปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มิใช่กิจการที่หาประโยชน์เป็นหลัก แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย มีสภาพแบกรับต้นทุนในราคาที่ต่ำกว่ารายได้รวม 300 ล้านบาท ดังนั้น ในทางกลับกันการให้สิทธิแก่เอกชนรับไปบริหารโครงการแต่คงได้รับอัตราผลตอบแทนตลอดอายุโครงการถึง 10,671 ล้านบาท จึงเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย นอกจากนี้เอกชนยังคงต้องลงทุนเพิ่มเติมในการจัดหาขบวนรถให้เท่ากับความต้องการ ในการเดินทางของประชาชน

อีกส่วนหนึ่งการประกวดราคาครั้งนี้เป็นการประกวดราคาแบบนานาชาติ โดยมีบริษัทซื้อเอกสารถึง 31 ราย ซึ่งมีบริษัททั้งจากในประเทศและต่างประเทศให้ความเชื่อถือโดยปราศจากข้อกล่าวหาใดๆ

ส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี กรมทางหลวงได้ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการฯ ในรูปแบบ PPP Gross Cost เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค.60 ซึ่งให้เอกชนเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง รวมทั้งรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทาง และให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการฯ ทั้งหมด ทั้งในส่วนของงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี นับแต่เปิดให้บริการ

จากผลการศึกษาพบว่าการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost มีต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐ "ต่ำกว่า" รูปแบบรัฐดำเนินการเอง เมื่อเปรียบเทียบตามหลักการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของเงิน รัฐสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงเรื่องการก่อสร้าง ค่าดำเนินงาน และค่าบำรุงรักษา (Q&M) ตลอดระยะเวลา 30 ปี ไปให้เอกชน ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากการดำเนินงานและบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนภายใต้เงื่อนไขสัญญาที่กำหนดเกณฑ์คุณภาพการให้บริการ (KPI) ในด้านต่าง ๆ เช่น การระบายจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง การช่วยเหลือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ความเรียบของผิวถนน ความชัดเจนของเส้นจราจร การซ่อมแซมดูแลรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ลดภาระรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน และลดภาระการบริหารจัดการด้านบุคลากร

ทั้งนี้ การใช้สัญญา PPP ที่ให้เอกชนลงทุนบำรุงรักษา และบริหารจัดการในระยะยาวเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้ภาคเอกชนนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้ในการดาเนินการตามเกณฑ์คุณภาพที่รัฐกำหนด และเอกชนสามารถวางแผนระยะยาว เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งเกิดความคล่องตัวของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา ซ่อมแซม บูรณะ ฟื้นฟูความเสียหายของทางและอุปกรณ์งานทางต่าง ๆ เมื่อเทียบกับกลไกการใช้งบประมาณ ซึ่งการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - นครราชสีมา และบางใหญ่ - กาญจนบุรี ได้มีการคำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐ ความเป็นไปได้ของการร่วมลงทุน และการจัดสรรความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยภาครัฐไม่ได้เสียเปรียบเอกชนและไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ยังชี้แจงถึงการรวบรวมแหล่งเงินทุนในโครงการทางพิเศษผ่านกองทุนไทยแลนฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) นั้น TFFIF เป็นทางเลือกในการระดมทุนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก สำหรับการระดมทุนผ่าน TFFIF ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นการนำกระแสเงินสดบางส่วนที่จะได้รับในอนาคตของทางด่วนสายฉลองรัชและบูรพาวิถีโอนให้แก่ TFFIF เพื่อให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนผ่าน TFFIF เพื่อนำไประดมทุนลงทุนพัฒนาโครงการทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้รวดเร็วมากขึ้น

การจัดตั้งและระดมทุนของ TFFIF ดำเนินการตามประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีการจัดสรรให้ประชาชนรายย่อยให้ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนอย่างเท่าเทียม หรือเรียกว่า Small Lot First ซึ่งอยู่บนหลักการในการจัดสรรให้กับประชาชนรายย่อยในประเทศเป็นสัดส่วนหลักตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.60 ทำให้การเสนอขายหน่วยลงทุนต่อนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จัดสรรให้กับประชาชนรายย่อยมากที่สุดกว่า 50% ของจำนวนที่เสนอขาย นอกจากนี้ การจัดสรรหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนสถาบันได้จัดสรรให้นักลงทุนในประเทศเท่านั้น และเน้นให้มีประชาชนรายย่อยเป็นผู้ลงทุนหลัก โดยไม่ได้จัดสรรให้กับบุคคลรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ