(เพิ่มเติม) ส.ค้าปลีก กระทุ้ง AOT เลือกเอกชนหลายรายทำร้านดิวตี้ฟรีแยกตามหมวดสินค้า-แนะบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เอง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 21, 2019 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมค้าปลีกไทย แถลงว่า สมาคมเห็นด้วยที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) แยกสัญญาในการให้สิทธิบริหารพื้นที่ให้บริการในสนามบินแต่ละแห่งภายใต้ความดูแลออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ออกจากกัน

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขให้สิทธิสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นแบบรายเดียว (Master Concession) โดยเห็นว่าควรจะแยกเปิดประมูลตามหมวดหมู่สินค้าอย่างน้อย 4 หมวด ได้แก่ น้ำหอมและเครื่องสำอาง,แฟชั่นและเสื้อผ้า, แอลกอฮอล์และยาสูบ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนั้น ยังเห็นว่าในการประมูลหาเอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่ในส่วนต่าง ๆ นั้น ภาครัฐหรือ AOT ควรได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่ต่ำกว่า 30% โดยกำหนดระยะเวลาสัมปทานคราวละ 5-7 ปี แต่หาก AOT ระบว่าบริหารจัดการยุ่งยากก็ควรจ้างเอเยนซี่มาบริหารแทน เพราะไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูงมากนัก และเพื่อให้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย

"ควรเปิดประมูลหลายราย ลดการผูกขาด ไม่มีระยะเวลาสัมปทานยาว ยิ่งมีหลายรายยิ่งมีความโปร่งใส แข่งขัน Service"นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ด้วยศักยภาพของไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากปีละประมาณ 60 ล้านคน และกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงอันดับหนึ่งของจุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่กลับทำรายได้จากการช้อปปิ้งต่ำมาก เพราะมีผู้บริหารดิวตี้ฟรีเพียงรายเดียว หากมีหลายรายเข้ามาบริหารพื้นที่ให้มีความหลากหลากก็เชื่อว่าจะสามารถนำเงินเข้าประเทศได้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท และผลประโยชน์เข้ารัฐมากขึ้นแทนที่จะให้รายเดียวผูกขาดอย่างปัจจุบันที่ให้ผลตอบแทนราว 15-19%

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับสนามบินอื่นมีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี ได้แก่ สนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ มีผู้บริหารดิวตี้ฟรี 12 ราย สนามบินฮ่องกง 4 ราย สนามบินชางงี สิงคโปร์ 3 ราย สนามบินนาริตะ 4 ราย แม้แต่กัมพูชา 3 ราย โดยสนามบินอินชอนมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 1 ใน 3 ของไทย แต่มีผู้ประกอบการมากกว่าไทย

นายวรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดของเงื่อนไขการประมูลและประกาศเชิญชวนเอกชน (ทีโออาร์) ควรระบุการให้ผลตอบแทนขั้นต่ำให้รัฐที่ระดับ 30% และการให้คะแนนด้านเทคนิคมีน้ำหนักมากสุดก็มีโอกาสเกิดความไม่โปร่งใสได้ โดยขณะนี้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีต่างชาติกำลังจับตาอยู่ทั้ง ล็อตเต้ ดีเอฟเอส เพราะมองว่าประเทศไทยควรจะทำได้ดีกว่าปัจจุบัน

ส่วนการประมูลบริการ Duty Free Pick-up Counter นายวรวุฒิ กล่าวว่า ควรเปิดประมูลและต้องไม่ให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีเข้าประมูล เพราะจะเห็นข้อมูลของคู่แข่ง และเห็นว่าควรจะมี Down town Dutyfree ในเมืองอย่างน้อย 3-4 ราย เชื่อว่าจะไม่กระทบกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายเดิม เพราะร้านดิวตี้ฟรีทำมาเพื่อนักท่องเที่ยวไม่ใช่ผู้บริโภคในประเทศ และปัจจุบันก็มีสินค้าหนีภาษีและขายผ่านออนไลน์จำนวนมาก ทำให้ธุรกิจค้าปลีกเดือดร้อนอยู่แล้ว

ขณะที่การบริหารพื้นที่ Retail นั้น ทางสมาคมเห็นว่า AOT ควรบริหารจัดการพื้นที่เอง โดยไม่ต้องผ่านบริษัทกลาง เพื่อไม่ให้สินค้าไม่แพงเกินไป เพราะที่ผ่านมามีการเช่าช่วงทำให้ค่าที่แพงขึ้นส่งผลราคาสินค้าอาหารภายในสนามบินสูงมาก

สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรีในสนามบินภูมิภาค ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิในเดือน ก.ย.63 ได้แก่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่ ประธานสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวว่า AOT ไม่ควรนำสนามบินภูมิภาคมาประมุลเป็นสัญญาเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิเหมือนอดีต เพราะสนามบินแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ก็ควรกำหนดหลักเกณฑ์แยกออกจากกัน

อย่างไรก็ตาม สนามบินทั้ง 3 แห่ง มีพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 1,000 -1,200 ตร.ม. การประมูลค้าผุ้ประกอบการดิวตี้ฟรีรายเดียวสามารถดำเนินการได้ เพราะมีขนาดเล็ก แต่ไม่ควรมีผู้ประกอบการรายเดียวได้สัมปทานทั้ง 3 แห่ง เพราะแต่ละแห่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย อาทิ ภูเก็ต ซึ่งมีนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน และมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินประมาณ 1,500 ตร.ม. ถือว่ามีรายเดียวเหมาะสม

"ตอนนี้เรารอทีโออาร์ออกมาก่อน คิดว่าข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้ จะทำมุมมิบไม่ได้ เราเอาผลประโยชน์ประเทศชาติมาให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ "นายวรวุฒิ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ