พาณิชย์ ยอมรับส่งออก Q1/62 ชะลอตามวัฏจักรคาดเริ่มฟื้นตั้งแต่ Q2 กัดฟันคงเป้าทั้งปี 8% ฟากเอกชนคาดโตได้แค่ 3-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 25, 2019 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกไตรมาส 1/62 ร่วมกับภาคเอกชนว่า วัฏจักรการส่งออกในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมามักจะพบว่าการส่งออกจะชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี และหลังจากนั้นในช่วงไตรมาส 2-3 จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้ก็เช่นกัน เพราะภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังเติบโตได้ดี

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่ปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ 8% ตามที่เคยตั้งไว้ โดยจะขอรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนตลอดทั้งไตรมาสแรกปีนี้ก่อน เพื่อนำมาประเมินสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของทั้งปีอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย.นี้

"เป้า 8% ถือว่าเป็น working target ของปีนี้ แต่ระหว่างทางก็ยังมีโอกาสที่จะยืดหยุ่นได้ รอดูเดือนเม.ย.อีกที แต่ตอนนี้เราต้องใส่ความพยายามให้เต็มที่ เพื่อจะเดินไปให้ถึงปลายทาง รอให้เห็นตัวเลขส่งออก 3 เดือนแรกก่อน ซึ่งขณะนี้อาจจะยังเร็วไปที่จะให้สรุปทั้งปี เพราะเพิ่งจะได้เห็นตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค.เพียงเดือนเดียว ยังเหลืออีกตั้ง 11 เดือน" น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว

พร้อมระบุว่า ภาคเอกชนต้องการกำลังเสริมจากภาครัฐในการช่วยสนับสนุนการส่งออก โดยมองว่ามีสินค้าอีกหลายกลุ่มที่ยังมีโอกาสจะเติบโตได้ดี เช่น กลุ่มอาหาร (ผัก ผลไม้), กลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มอัญมณี-เครื่องประดับ ในขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรจะต้องมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้ามากขึ้น ทั้งข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นต้น

"สิ่งที่แต่ละสมาคมฯ ได้พูดในที่ประชุมวันนี้ เราจะนำมา match กับมาตรการส่งเสริมการตลาดของเราที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งน่าจะทำให้การส่งออกในระยะถัดไปจะตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น" น.ส.บรรจงจิตต์ ระบุ

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการรวบรวมความเห็นของภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าในแต่ละกลุ่ม ต่างมีความเห็นร่วมกันว่าในปีนี้การส่งออกไทยน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3-5% เท่านั้น ซึ่งคงไม่ถึงเป้าหมายตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8%

โดยปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกปีนี้ คือ เงินบาทซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งค่าเกินไป รวมทั้งกังวลหากจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ล่าสุดสหรัฐฯ ได้เลื่อนเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนออกไปจากวันที่ 1 มี.ค.นั้น ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการส่งออกของไทยด้วย

ขณะที่ภาคเอกชนได้มีการประเมินภาพรวมการส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้ไว้ ว่าจะอาจต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยที่ -1.5% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 61,700 ล้านดอลลาร์ จากไตรมาสแรกปี 61 ที่การส่งออกมีมูลค่า 62,800 ล้านดอลลาร์

นายสนั่น กล่าวว่า ในภาพรวมปีนี้การส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรอาจจะไม่สดใสนัก เช่น การส่งออกข้าว โดยมีการประเมินว่าปีนี้ปริมาณจะลดลงเหลือ 9.5 ล้านตัน จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 11 ล้านตัน รวมทั้งสินค้ามันสำปะหลัง ยางพารา และน้ำตาลที่แม้จะมีแนวโน้มราคาดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะลดลง ซึ่งสินค้าที่โดดเด่น คือ กลุ่มอาหาร ที่ช่วยดึงให้การส่งออกสินค้าเกษตรในปีนี้เป็นบวกได้ราว 1.4%

ในขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมคงไม่ร้อนแรงเช่นในปีที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบอาจอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งหากจะให้ผู้ส่งออกปรับขึ้นราคาสินค้าก็คงทำได้ยาก ดังนั้นผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนนี้จึงทำให้รายได้จากการส่งออกที่แปลงกลับมาเป็นเงินบาทลดลง แต่ในภาพรวมแล้วคาดว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปีนี้จะเติบโตได้ราว 3%

รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยนั้น เชื่อว่าในเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่คงจะไม่สามารถไปทำอะไรที่ฝืนตลาดได้มากนัก เพราะเรื่องค่าเงินคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

"เรื่องเงินบาทที่แข็งค่า เราคงจะ take action อะไรกับเรื่องนี้ได้ไม่มาก รัฐบาลเองก็พยายามบอกให้แบงก์ชาติดูแล และทางแบงก์ชาติก็คงจะดูแลอยู่เป็นระยะๆ ถ้าไปคุยกับแบงก์ชาติ เขาก็คงจะบอกว่าต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาด เรื่องนี้เราคงจะมีความหวังน้อยลง หวังผลได้ลำบาก" นายสนั่นระบุ

ส่วนความกังวลปัญหาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จากที่ได้หารือกันของภาคธุรกิจใน 40 กว่าจังหวัดไม่ต้องการให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนสูงการผลิตขึ้น ดังนั้นในกรณีของการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ ภาคเอกชนต้องการเสนอรัฐบาลว่าให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของปีนี้ไว้ในระดับเดิมไปก่อน แต่หากต่อไปจะมีการทบทวนใหม่ก็ขอให้หารือกันล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากมีผู้ประกอบการการเสนอราคาสินค้ากับผู้นำเข้าไปล่วงหน้าแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ