รมช.พาณิชย์ ยังมั่นใจส่งออกปีนี้เติบโตได้ดี แม้เดือนแรกติดลบ เหตุสัดส่วนส่งออกในตลาดใหม่ขยายตัวดี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 27, 2019 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาการ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตัวเลขส่งออกไทยล่าสุดเดือนม.ค.62 หดตัว 5.7% นั้น พบว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก แต่สัดส่วนการส่งออกไทยในหลายตลาดยังขยายตัว และมีแนวโน้มสูงขึ้นในตลาดใหม่ นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ และจีนตกลงกันได้ จะลดความตึงเครียดในระบบการค้าโลกได้ จึงยังมั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ดีในช่วงเวลาที่เหลือของปี

รมช.พาณิชย์ ชี้แจงว่า การส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เป็นผลจากประเด็นข้อพิพาททางการค้า เศรษฐกิจประเทศใหญ่ชะลอตัว และปัจจัยภายในของบางประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) แต่เมื่อดูเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้วพบว่า สถานการณ์ส่งออกไทยปี 2561 ขยายตัว 6.7% อยู่ในระดับกลางและมีสถานการณ์ที่ดีกว่าหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ (ขยายตัว 5.5%) ไต้หวัน (ขยายตัว 4.8%) ญี่ปุ่น (ขยายตัว 4.1%) และฟิลิปปินส์ (หดตัว 1.8%)

นอกจากนี้ ไทยยังรักษาสัดส่วน หรือ market share ในประเทศต่าง ๆ ไว้ได้ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวในตลาดใหม่ ๆ โดยในตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวได้ดีในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในจีนลดลงเล็กน้อย เกิดจากกลุ่มสินค้ายางพาราที่จีนมีแนวโน้มหันไปนำเข้าจากกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น นอกจากตลาดใหญ่แล้ว ยังพบว่าไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในตลาดศักยภาพ โดยเฉพาะ อินเดีย และรัสเซีย โดยในตลาดอินเดียส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก1.7% ในปี 60 เป็น 1.9% ในปี 2561 เนื่องจากสินค้าไทยมีการทำตลาดในอินเดียมากขึ้น และอินเดียขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ โทรศัพท์) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในด้านรายสินค้า พบว่าไทยยังมีโอกาสส่งออกได้เพิ่ม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารของไทย โดยปี 2561 กลุ่มอาหารมีมูลค่าส่งออก 2.1 หมื่นล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 8.5% ของมูลค่าส่งออกรวม และขยายตัว 6.9% จากปีก่อน โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สดแช่แข็ง (+17.1%) ขยายตัวดีในตลาดจีนโดยเฉพาะทุเรียน รวมถึงผลไม้ตามฤดูกาล ไก่แปรรูป (+10.2%) ขยายตัวสูงในตลาด ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้ และตลาดใหม่ ๆ เช่น จีน ซึ่งเริ่มอนุญาตให้นำเข้าจากไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม 61 เนื่องจากมีการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ, เครื่องดื่ม (+13.8%) มีความต้องการสูงขึ้นในตลาด CLMV โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลัง ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง

นอกจากนี้ ไทยมีโอกาสขยายมูลค่าส่งออกในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่สหรัฐฯ มีมาตรการกับจีน โดยพบว่าไทยมีมูลค่าส่งออกกลุ่มดังกล่าวไปสหรัฐฯ ปีละ 2.1 หมื่นล้านเหรียญ รวมถึงไทยมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนจีนในหลายสินค้า ซึ่งหลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการทางภาษีสินค้าเกษตร อุปโภคบริโภคและสินค้าเทคโนโลยี เมื่อ 24 กันยายน 2561 พบว่าไทยสามารถขยายมูลค่าส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะ & ส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ & เครื่องสำอาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม เป็นต้น

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้บรรยากาศความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มคลี่คลายลงบ้าง หลังจากสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าจะยังไม่ขึ้นภาษีสินค้าเกษตร อุปโภคบริโภค และสินค้าเทคโนโลยีหลายประเภทที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบาย Made in China 2025 มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านเหรียญฯ ตามที่กำหนดไว้แต่เดิมว่าจะขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ เพราะจีนได้แสดงท่าทีจะนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอื่น ๆ จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งหากสองฝ่ายตกลงกันได้ในรายละเอียด ก็จะทำให้การค้าโลกฟื้นตัวได้อีกครั้ง ส่งผลดีต่อการส่งออกไทยและโลก

"ในขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังเดินหน้าการส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าอย่างเต็มที่ โดยมีกิจกรรมทั้งการจัด Sourcing Forum ให้ผู้นำเข้ามาพบผู้ส่งออกไทย และจะมี mission ใหญ่ ๆ ตลอดทั้งปี รวมทั้งมีการปรับแนวทางการส่งเสริมการส่งออกให้มีความจำเพาะ (customized) มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้ดีในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2562 นี้" รมช.พาณิชย์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ