(เพิ่มเติม) ธปท.เผย เศรษฐกิจ ม.ค.ยังขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก แม้ท่องเที่ยวชะลอ-ส่งออกหดตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2019 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.62 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้การบริโภค ภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องในทุกหมวดการใช้จ่าย เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่หดตัว ขณะที่การผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับอัตราว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิเล็กน้อย

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับดีขึ้นตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมขยายตัวต่อเนื่องตามผลผลิต ขณะที่ราคาหดตัวน้อยลง ประกอบกับรายได้รวมนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวดีในทุกสาขา สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุนที่ขยายตัวดี และการนำเข้าสินค้าทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้า อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง แม้ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังขยายตัวดี

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายประจำที่ขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ขยายตัวสูง จากผลของการเหลื่อมเดือนจากปกติที่จ่ายในเดือนมีนาคมเป็นมกราคมในปีนี้ ด้านรายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัว ตามการเร่งเบิกจ่ายโครงการขนาดเล็กของบางหน่วยงาน ภายหลังการทบทวนโครงการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวที่ 4.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวชะลอลงตามนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และไต้หวัน ขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ประกอบกับมีการเปิดเส้นทางบินใหม่หลายเส้นทางระหว่างไทย-จีน และไทย-อินเดีย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากเดือนก่อนจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 4.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำหดตัว 3.9% โดยเป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้าจาก 1) ผลของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้การส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางหดตัว ประกอบกับการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หดตัวตามการปรับลดสินค้าคงคลังของผู้นำเข้า 2) วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในหลายหมวดหดตัว ต่อเนื่อง และ 3) ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ส่งผลให้มูลค่าสินค้าที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์หดตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แม้การผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศ อาทิ หมวดยานยนต์ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่เติบโตได้ดี แต่การผลิตเพื่อส่งออก อาทิ หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และหมวดยางและพลาสติก หดตัวตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอลง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ 4.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 4.5% ตามการขยายตัวใน 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ขยายตัวดีในหลายหมวด โดยเฉพาะการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ และเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ขยายตัวจากด้านราคา 2) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมหมวดเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวดีในหลายหมวด สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว และ 3) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ตามการน เข้า สินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.27% ชะลอจาก 0.36% ในเดือนก่อน ตามหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาในหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้นตามราคาเนื้อสัตว์เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนเกินดุลจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ