(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.พ.ขยายตัว 0.73% สูงขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 2, Core CPI ขยายตัว 0.60%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2019 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 101.95 เพิ่มขึ้น 0.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.24% จากเดือน ม.ค.62

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.พ.62 อยู่ที่ 102.32 เพิ่มขึ้น 0.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง -0.02% จากเดือน ม.ค.62

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 103.11 เพิ่มขึ้น 1.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.15% จากเดือน ม.ค.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.31 เพิ่มขึ้น 0.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.30% จากเดือน ม.ค.62

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของปีนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 61 ที่ 0.7-1.7%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนก.พ. 62 สูงขึ้น 0.73% (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนก่อนหน้าสูงขึ้น 0.27% รวมทั้งการปรับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีราคากลุ่มพลังงานติดลบน้อยลง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คือสินค้ากลุ่มอาหารสด ที่สูงขึ้น 2.64% รวมทั้งการปรับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีราคากลุ่มพลังงานติดลบน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา โดยปรับลดลง 0.90% จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 3.51% ในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรบางชนิด เช่น ผลไม้สดลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.60% (YoY)

สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติเช่นเดียวกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น รายด้เกษตรกร และอัตราค่าจ้างเฉลี่ยมีการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภครวมอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเชื่อมั่นเกินระดับ 50 ติดต่อกัน 2 เดือน ส่งผลดีต่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการในอนาคต อาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป

"การสูงขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ โดยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ากว่าอัตราค่าจ้างเฉลี่ย และรายได้เกษตรกร ที่ขยายตัวตามราคาสินค้าเกษตรส่าคัญ" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สนค. ยอมรับว่า อาจจะต้องมีปรับประมาณการเงินเฟ้อในไตรมาสแรกที่วางไว้ที่ 0.67% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค. อยู่ในระดับ 0.27% ซึ่งถือว่าต่ำเกินไป แม้อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.จะปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 0.73% แต่เฉลี่ย 2 เดือนอยู่ที่ 0.49% แต่ในขณะนี้ยังคงกรอบอัตราเงินเฟ้อปี 62 อยู่ที่ 0.7- 1.7% โดยมีค่ากลางที่ 1.2%

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้มีการประเมินผลกระทบกรณีที่จะอาจมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 ในเดือนมี.ค.นี้ว่า จะส่งผลต่อเงินเฟ้อมากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่า คงไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก เพราะหากมีการขึ้นค่าแรง ทางกระทรวงพาณิชย์คงมีมาตรการในการดูแล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ