(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'62: ประชาธิปัตย์เปิดนโยบายเศรษฐกิจ "10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย สร้างชาติ"

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 9, 2019 15:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงนโยบายเศรษฐกิจชุด "10 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย สร้างชาติ" นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กรรมการนโยบาย, นางการดี เลียวไพโรจน์ ทีมนโยบายเศรษฐกิจ, นายเกียรติ สิทธีอมร ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค, นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายศุภชัย ศรีหล้า กรรมการนโยบาย, นายอรรชวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมการนโยบาย, นายธราดล เปี่ยมพงษ์สานต์ ผู้อำนวยการด้านนโยบาย สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย และ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจ 10 ประการที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ ในการสร้างให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพดี เปลี่ยนสังคมให้มีการกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง และเปลี่ยนให้ประเทศไทยมีความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ได้แก่

1.ปรับกระบวนทัศน์ด้านเศรษฐกิจ ผ่านการใช้ดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า PITI (Prosperity Index Thailand Initiative) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ รวมถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม สะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน แทนการวัดตัวเลขผ่านดัชนีมวลรวมของประเทศ (GDP) เท่านั้น เพื่อใช้ดัชนีชี้วัด PITI เป็นฐานที่ให้รัฐบาลวางนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศ

2.เร่งรัดโครงการด้านคมนาคม ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายในพื้นที่กทม. รวมระยะทาง 225 กิโลเมตร รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง สายนครราชสีมา ถึง หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อรถไฟจากประเทศลาว และประเทศจีน และเชื่อมต่อไปถึงปาดังเปซาร์ ไปยังประเทศสิงคโปร์ โครงการรถไฟรางคู่ นอกจากนั้นระบบขนส่งจะพัฒนาเพิ่มเติม คือ โมโนเรล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ฯลฯ เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

3.ปฏิรูปงานราชการ และภาครัฐ ผ่านการใช้เทคโนโลยียกระดับงานบริการให้กับประชาชน นอกจากนั้นปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ รวมถึงเชื่อมโยงกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ากับงานภาครัฐ

4.นโยบายปฏิวัติเขียว เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมของไทยให้มีบทบาทในเวทีโลก อาทิ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหรือส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ต่อยอดและพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์อุตสาหกรรมอาหาร เชื้อเพลิง ยา อาหารเสริม เวชสำอาง รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้การพัฒนาอุตสาหกรรม จะปรับกองทุนที่มีอยู่

5.ยกระดับเศรฐกิจสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่คำนึงถึงประเพณี ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยวางเป้าเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเกิน 5% นอกจากนั้นจะใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ ผ่านการสร้างศูนย์อบรมและให้ความรู้กับประชาชน, ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และ การชมภาพยนตร์

6.สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ และส่งเสริมเกษตรกรแบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อให้เป็นศูนย์รวม หรือ สหกรณ์ ที่รวมปัจจัยด้านการผลิตยุคใหม่ที่ทันสมัย เช่น รถไถ, โรงบ่ม กระจายอยู่ในพื้นที่เพื่อยกระดับภาคเกษตรกรให้เป็นจุดเปลี่ยนของเศรฐกิจไทย ขณะเดียวกันศูนย์รวมด้านเกษตรกร จะช่วยส่งเสริมด้านการตลาด และต่อยอดด้านธุรกิจด้านการเกษตร

7.ประกาศให้เป็นปี 2562 ปีแห่งการแก้หนี้ 3 ประเภท คือ 1.หนี้เกษตรกร จะปรับแนวทางของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ไม่ยึดที่ดินทำกินของเกษตรกร ซึ่งเข้าโครงการ แก้ปัญหาหนี้ระบบ โดยความร่วมมือจาก 4 ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ธ.ก.ส.เพื่อนำหนี้นอกระบบกลับเข้าสู่ระบบ เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ร่วมโครงการ 8 แสนราย ,จัดโครงการหมอหนี้เพื่อให้คำปรึกษากับประชาชนทุกหมู่บ้าน, แก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต ผ่านกฎหมาย ซึ่งพรรคยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บัตรเครดิต เสร็จแล้วและเตรียมนำเสนอสู่สภาฯ ทันที

8.จัดโครงการสร้างเงินออมให้ประชาชน อาทิ ให้บริษัทเอกชนที่มีพนักงานเกิน 5 คนขึ้นไป ให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีโครงการเงินออมเพื่อประชาชน ผ่านการจ่ายเงินเดือนละ 100 บาท

9.ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงเก็บภาษีจากกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ นอกจากนี้ยังประกาศให้ปี 2562 เป็นปีแห่งการแก้หนี้

10.การเมืองสุจริต ซึ่งในส่วนนี้พรรคเตรียมเปิดตัวก่อนวันที่ 24 มีนาคม เพราะปัญหาคอรัปชั่นเชื่อมโยงในทุกระบบของประเทศ

ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า การใช้งบประมาณตามนโยบายของพรรคนำเสนอ จะใช้เงินที่เพิ่มจากงบประมาณ จำนวน 3.9 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2563 พรรคประเมินว่าจะมีวงเงินงบประมาณโดยรวม 2.7 ล้านล้านบาท โดยมีรายจ่ายโดยรวม 2.9 ล้านล้านบาท ดังนั้นตามนโยบายของพรรคเพื่อแก้จนและสร้างคน จะต้องใช้เงินรวม 5.9 แสนล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถทำได้ โดยไม่ขัดกับกฎหมาย

สำหรับรายได้ที่พรรคจะจัดหา คือ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดภาระด้านค่าใช้จ่ายของรัฐบาล, ทบทวนรายจ่ายของรัฐบาล เช่น งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันตั้งงบไว้จำนวน 9 หมื่นล้านบาท จะปรับลด 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงทบทวนความซ้ำซ้อนด้านนโยบาย ทั้งนี้สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือ การปฏิรูประบบภาษีให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยผู้มีรายได้สูงและมีที่ดิน ต้องเสียภาษีที่ดินหรือทรัพย์สินที่ดินตามการประเมินราคาตลาดที่แท้จริง รวมถึงจะเก็บภาษีจากธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคล จะปรับให้เป็นธรรม คือ ลดลง โดยบุคคลที่มีเงินได้ต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อปี จะเสีย 20% ขณะเดียวกันจะส่งเสริมด้านการออม ขณะที่ผู้ประกบอการขนาดเล็กและขนาดกลาง พรรคจะขยายฐานภาษีเพื่อให้ธุรกิจเติบโต ขณะเดียวกันจะลดการเก็บภาษีให้เหลือเพียง 10% ขณะที่กลุ่มธุรกิจข้ามชาติที่ได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีในธุรกิจประเภทใหม่ ต้องเสียภาษีการค้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ประชาชนที่มีรายได้น้อยพรรคเตรียมทำนโยบายด้านสวัสดิการขึ้นพื้นฐานถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน

นายอภิสิทธิ์ เชื่อว่าโยบายที่นำเสนอจะเป็นจุดเปลี่ยนให้ประเทศได้ โดยยืนยันว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น และพร้อมทำต่อเนื่องจากสิ่งที่เคยทำ โดยสาระสำคัญคือสร้างโอกาสเศรษฐกิจให้ประชาชนทุกภูมิภาค และยกระดับการบริหารงานภาครัฐ ปฏิรูประบบการทำงานผ่านเทคโนโลยี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ