พาณิชย์ นำคณะเดินทางไปศึกษาลู่ทางการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 11, 2019 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 4-9 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างเครือข่ายทางการค้าและขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าไทยที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพคือข้าวหอมมะลิออร์แกนิคคุณภาพสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีศักยภาพ (Product Champion) และมีโอกาสทางการตลาดในสหรัฐฯ คาดว่ายอดสั่งซื้อสินค้าออร์แกนิคไทยภายในงานและคาดการณ์ 1 ปีจะสูงถึงกว่า 145 ล้านบาท

"สินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวออร์แกนิคมีศักยภาพสูงสุดในตลาดสหรัฐฯ ในปี 2018 ช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2561 สหรัฐฯ นำเข้าข้าวออร์แกนิคจากไทยมากถึง 8.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย) เทียบกับตัวเลขการนำเข้าจากทั่วโลกในช่วงเดียวกันคือ 22.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 38.86 % และคาดการณ์ว่าในปี 2562 สหรัฐฯ จะนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 10%" น.ส.ชุติมา กล่าว

สำหรับการเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ คณะได้เข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Natural Products Expo West 2019 (NPEW 2019) ณ เมือง อนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มี.ค.62 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติและสินค้าออร์แกนิคที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าร่วมชมงานทั้งสิ้นกว่า 85,000 ราย มีบริษัทและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมงานจำนวน 3,521 ราย บนพื้นที่แสดงสินค้า 1 ล้านตารางฟุต โดยคณะฯ ได้พบหารือผู้ประกอบการไทย 17 รายที่เข้าร่วมเจรจาการค้าในคูหาประเทศไทยภายในงานฯ ซึ่งผู้ประกอบการไทยกลุ่มนี้ผ่านการคัดเลือกภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมข้าวไทยเพื่อเจาะตลาดเกษตรอินทรีย์สหรัฐอเมริกาที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเริ่มดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่เดือน เม.ย.61 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดของสหรัฐฯ มาให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาด และให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมเพื่อเจาะตลาดสหรัฐฯ สินค้าออร์แกนิคที่ทำจากข้าวมีทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร ได้แก่ ขนมทานเล่น ซีเรียล เส้นก๋วยเตี๋ยว และเครื่องสำอาง เป็นต้น

นอกจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน คือ การหารือร่วมกับภาคเอกชนรายสำคัญจำนวน 3 ราย ได้แก่ ผู้บริหารบริษัท North Gate Supermarket ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้า Hispanics ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ปัจจุบันมี 40 สาขา ทั้งในรัฐ California ตอนใต้ รัฐ Texas และรัฐ Arizona โดยได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับลู่ทางการขยายตลาดสินค้าไทยไปสู่ตลาด Hispanic ในฝั่งตะวันตกของอเมริกา รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวโน้ม ความนิยม และความต้องการสินค้า Ethnic Foods ในตลาดสหรัฐฯ

คณะยังได้พบกับผู้บริหารห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ Mother’s Market & Kitchen ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นขายสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ สินค้า organic, non-GMO, vegan, vegetarian, gluten-free, low carbohydrate, low glycemic, low-fat, low-salt เป็นต้น ปัจจุบันมี 8 สาขาในรัฐ California ตอนใต้ โดยได้หารือลู่ทางการนำเข้าและการประชาสัมพันธ์สินค้าออร์แกนิคจากไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ และภาคเอกชนรายที่สาม ได้แก่ บริษัท Vihn – Sanh Trading Corp. ซึ่งผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ โดยมีบริษัทในเครือ 2 แห่งคือ Vinh Sanh Trading Co. และ First World Trading Corp. ในปี 2018 นำเข้าข้าวไทยประมาณ 30,000 ตัน โดยได้หารือลู่ทางการนำเข้าข้าวและสินค้าข้าวเพิ่มเติมจากไทยและแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวโน้มความต้องการบริโภคข้าวในตลาดสหรัฐฯ โอกาสของข้าวสี/ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ไทยในตลาดสหรัฐฯ และเน้นย้ำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เล็งเห็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของข้าวไทยเมื่อเทียบกับข้าวจากประเทศอื่นๆ

ด้าน น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าการค้าสินค้าในกลุ่มนี้สูงถึงปีละประมาณ47,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งผู้จำหน่ายหรือผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐอเมริกามีการพึ่งพาการนำเข้าพืชผลหรือวัตถุดิบอินทรีย์จากต่างประเทศ

ในปี 2018 สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าธรรมชาติและอินทรีย์ประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6% แบ่งเป็นสินค้า Natural & Organic Foods 39% Functional Food 31% Supplements 21% Natural Living 9% โดยมีตลาดผู้บริโภคสำคัญ ได้แก่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y (Millennial) และ Gen Z (iGen) สำหรับช่องทางการจำหน่าย ได้แก่ ร้านค้าปลีกเครือข่าย/Mass Market (59%) ร้านค้าปลีกเฉพาะทาง/Natural & Specialty Store (27%) หรือขายผ่านเครือข่ายหรือขายผ่านผู้เชี่ยวชาญ/Practitioner (8%) ช่องทางออนไลน์ และ Mail Order, Direct TV& Radio (6%)

การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์และออร์แกนิคระหว่างไทย-สหรัฐ โดยคาดว่าตลาดสินค้าออร์แกนิคไปยังตลาดสหรัฐฯสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ