ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.พ.62 อยู่ที่ 48.5 เพิ่มขึ้นจาก ม.ค.62 สะท้อนความเชื่อมั่นเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 19, 2019 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) เดือน ก.พ.62 ซึ่งเป็นการสำรวจความเห็นจากประธานหอการค้าและกรรมการหอการค้าของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 377 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.พ.62 อยู่ที่ระดับ 48.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.0 แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แม้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 50.0 ก็ตาม

ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ กิจกรรมทางการเมืองในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง, อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ที่ระดับ 1.75%, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 62 ขยายตัวที่ 4% ขณะที่ปี 61 ขยายตัวได้ 4.1%, นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัรบตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2, สถานการณ์สงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย และเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ขณะที่ในเดือน ก.พ.นี้ ยังมีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ได้แก่ การส่งออกในเดือนม.ค.ปรับตัวลดลง, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น, ความกังวลต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก, ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ, ความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางในการทำงานและแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่สำคัญ ดังนี้ 1. การกระจายความเจริญสู่ชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และการคมนาคมภายในประเทศ 3.การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 4.มาตรการเพิ่มรายได้และกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน 5.ส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น พัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อช่วยกระจายรายได้ และ 6.ชี้แจงการทำงานของภาครัฐเพื่อความโปร่งใส และป้องกันการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเมื่อแยกเป็นรายภาค จะมีรายละเอียดดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 50.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล, กิจกรรมการหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ คือ กำลังซื้อของประชาชนลดลง, ธุรกิจเอกชนมีการแข่งขันสูง และต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น โดยสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ การพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจ, การส่งเสริมอาชีพให้ประชาชน, แก้ปัญหากำลังซื้อและสภาพคล่องทางการเงินของประชาชน เป็นต้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 48.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ การลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน, ยอดคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน ภายหลังที่มีการประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนในวันที่ 24 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบที่สำคัญ เช่น กำลังซื้อของประชาชนค่อนข้างต่ำ, ปัญหาราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังตกต่ำ และการทำงานของภาครัฐยังขาดความต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ และรายได้ของประชาชน, ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ คือ กิจกรรมรณรงค์หาเสียงในช่วงเดือนมี.ค., การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงเติบโต, การท่องเที่ยวหัวเมืองชายทะเล, การขยายตัวของธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ, การชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน, ปัญหาภัยแล้ง และการชะลอตัวของการค้าชายแดน โดยภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ, การลงทุนเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น และกิจกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์ภัยแล้ง, การค้าชายแดนไม่เติบโตเท่าที่ควร, กำลังซื้อของประชาชนลดน้อยลง และราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ โดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืน, เพิ่มโครงการลงทุนเพื่อให้มีการจ้างงานในพื้นที่มากขึ้น, แก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม รวมทั้งช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 49.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น นโยบายหรือมาตรการที่ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจ, ภาคการเกษตรขยายตัวจากพืชผลเกษตรหลายชนิดเริ่มออกสู่ตลาด เป็นต้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์ภัยแล้ง, ปัญหาฝุ่น PM2.5, ค่าครองชีพสูงขึ้น และการค้าชายแดนที่ปรับตัวลดลง เป็นต้น โดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขในเรื่องมลพิษทางอากาศ, ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนมีรายได้, สนับสนุนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 45.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีปัจจัยบวกจากการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ห้องพัก และการท่องเที่ยว, นักท่องเที่ยวชาวจีนเริ่มกลับเข้ามา, ธุรกิจภาคบริการมีสัญญาณขยายตัวดี แต่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังตกต่ำ เช่น ปาล์ม, ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด, ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ปัญหาการว่างงานให้ประชาชนในพื้นที่, หาตลาดรองรับการส่งออกสินค้า, เพิ่มมูลค่าพืชผลทางการเกษตร และส่งเสริมการลงทุนในภาคเอกชน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ